“สิทธิบัตรทอง” สำหร้บผู้ใส่ฟันเทียม มีปัญหาหลวม-ไม่แน่น สปสช.ชวนใช้บริการ “ใส่รากฟันเทียม” ฟรี
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สปสช.
นอกจากการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่สูญเสียฟันเกือบทั้งปากแล้ว ในครั้งนี้ยังเพิ่มเติมบริการใส่รากฟันเทียมให้กับผู้ที่ใส่ฟันเทียมในโครงการฯ ทั้งนี้ เบื้องต้นจำกัดเฉพาะผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียม ฟันเทียมหลวม ไม่แน่น ไม่กระชับ หรือไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ ที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า จำเป็นต้องได้รับการใส่รากฟันเทียม
ผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง ยังใช้บริการไม่มากนัก
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น จำนวนประชาชนที่เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมได้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการฯ แล้ว แต่ในส่วนของบริการใส่รากฟันเทียมพบว่า ยังมีผู้ที่มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการไม่มาก แม้จะผ่านเกณฑ์รับบริการใส่รากฟันเทียมก็ตาม
ซึ่งจากการสำรวจความเห็นพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความไม่เข้าใจและยังรู้สึกกลัวที่จะใส่รากฟันเทียม คิดว่าการใส่รากฟันเทียมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ต้องผ่าตัดและมีความเจ็บปวดมาก รวมถึงต้องรับบริการหลายครั้ง
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลความคิดเห็นต่อการใส่รากฟันเทียมนี้ ขอย้ำว่าการใส่รากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่แตกต่างอะไรจากการถอนฟัน หรือผ่าฟันคุดแต่อย่างใด ซึ่งในการทำหัตถการนี้ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาก่อน หลังจากนั้นทันตแพทย์ก็จะทำการใส่รากฟันเทียม 2 รากที่ขากรรไกรซึ่งใช้เวลาไม่นานมากเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็เป็นอันเรียบร้อยดี และเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยก็อาจมีอาการปวดบ้าง แต่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1-2 วันก็หาย
ในส่วนของขั้นตอนจากนั้น เป็นการช่วงการรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกเสียก่อน อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเป็นการนัดพบทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแต่งฟันเทียมให้ยึดกับรากฟัน หลังจากนั้นผู้ป่วยก็สามารถใช้ฟันเทียมชุดใหม่นี้ได้
ในระหว่างนี้ก็จะมีการนัดผู้ป่วยมาตรวจรากฟันเทียมที่ใส่เป็นระยะ ซึ่งรากฟันเทียมนี้ผู้ป่วยสามารถได้ไปตลอด แต่ในกรณีที่ใส่ฟันเทียมที่ยึดติดกับรากฟันเทียมไประยะหนึ่ง แล้วฟันเทียมที่ใส่เกิดหลวมอีกนั้น จะเป็นการแก้ไขโดยปรับฟันเทียมบริเวณที่ยึดกับรากฟันเท่านั้น
ไม่ยุ่งยาก ไม่น่ากลัว ส่งผลดีต่อผู้ป่วย
จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่าการใส่รากฟันเทียมไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุ่งยากหรือน่ากลัวแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้าม เมื่อผู้ป่วยมีรากฟันเทียมที่จะยึดติดฟันเทียมแล้ว จะทำให้ท่านสามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวได้ดี รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หลากหลาย อันนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นการเสริมบุคลิกที่ดีให้กับผู้ป่วยอีกด้วย นับได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ตามมาจากผลของการใส่รากฟันเทียมนี้ จะส่งผลที่ดีต่อผู้ป่วยอย่างมาก
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ส่วนประเด็นความมั่นใจต่ออุปกรณ์รากฟันเทียมที่นำมาใส่ให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโครงการฯ ย้ำว่าเป็นนวัตกรรมรากฟันเทียมที่มาจากฝีมือคนไทย ชื่อรุ่น PRK ย่อมาจากคำว่า พระรามเก้า มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ากับรากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีผู้ป่วยได้รับการใส่รากฟันเทียมนี้แล้วจำนวน 50,000 คน จึงมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของรากฟันเทียมนี้ได้ โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียถัดจากเกาหลีใต้ที่สามารถผลิตรากฟันเทียมได้เอง
หลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิรับบริการ
การใส่รากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการใส่รากฟันเทียมภายใต้โครงการฯ และมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ เป็นผู้มีสิทธิบัตsทองที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ที่รับบริการในโครงการฯ และมีปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่กระชับ ซึ่งทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องใส่รากฟันเทียมนี้ สามารถเข้ารับบริการใส่รากฟันเทียมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ขอย้ำว่าจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เคี้ยวอาหารได้ ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้หลากหลาย และนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีตามมา รวมถึงช่วยสร้างเสริมบุคลิกที่ดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านได้รับการใส่ฟันเทียม หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘สิทธิบัตsทอง’ เปิด 10 อันดับโรค ผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยใน ใช้บริการสูงสุดปี 65
- ‘สิทธิบัตsทอง’ อัปเดตบริการ พบแพทย์ออนไลน์ ’42 กลุ่มโรค’ ส่งยาถึงบ้าน ในพื้นที่กรุงเทพ
- ‘สิทธิบัตsทอง’ เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาร้านยาใกล้บ้าน 7 เดือนใช้บริการกว่า 1.4 แสนคน เฉียด 2.4 แสนครั้ง