Economics

เตรียมเฮ! หนุนเข้า ‘สิทธิบัตรทอง’ นวัตกรรม ‘ชุดตรวจโรคไต’ แบบพกพา ใช้งานลักษณะ ATK

เตรียมเฮ! หนุนเข้า “สิทธิบัตรทอง” นวัตกรรม “ชุดตรวจโรคไต” แบบพกพา ใช้งานลักษณะ ATK คัดกรองโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

จากรายงานผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2564 มีผู้ป่วย “โรคไตเรื้อรัง” มากถึง 1,007,251 ราย รวมถึงยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหาร และการกินยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร่วมด้วย อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

ความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตามประสิทธิภาพที่ไตสามารถทำงานได้ โดยการดูแลรักษา ระยะที่ 1-4 จะสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต แต่ในระยะที่ 5 หรือที่เรียกว่า ‘ระยะสุดท้าย’ จะต้องรับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตร่วมด้วยจึงจะมีอาการที่ดีขึ้น

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2563 ความชุกของผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตรวมทั้งหมด 170,774 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 19,772 ราย ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐต้องสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

สิทธิบัตรทอง

ไทยมีอัตราเพิ่มของโรคไตวายเรื้อรังเร็วที่สุดในโลก

อย่างเช่นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในปี 2565 มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายซึ่งต้องรับการบำบัดทดแทนไตทั้งหมด 82,463 ราย ใช้งบประมาณในส่วนนี้ราวๆ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี

และจากรายงานของ United states renal data system พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนความชุกโรคไตวายเรื้อรังเทียบกับประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราเพิ่มของโรคไตวายเรื้อรังเร็วที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือเพิ่มขึ้นถึง 19% ต่อปี

โรคไตระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการ การตรวจคัดกรองโรคจึงต้องตรวจหาค่าซีรั่มครีเอตินีน และตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะเท่านั้น ซึ่งอัลบูมินที่ปกติจะตรวจไม่พบในปัสสาวะเพราะไตสามารถกรองเก็บเอาไว้ได้ แต่ถ้าตรวจพบจะหมายถึง ประสิทธิภาพการกรองของไตลดลงและเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่การตรวจด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น แม้จะใช้เวลาในการตรวจไม่นานแต่ก็ต้องเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากสถานพยาบาล

shutterstock 2296047789

นวัตกรรมตรวจโรคไต คัดกรองโรคระยะเริ่มต้น

ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. และทีม ได้ทำการวิจัย “โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria” ใช้งานลักษณะเดียวกับ ATK โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจันระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น

รวมถึงพัฒนาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในรูปแบบ point of care testing ซึ่งประกอบด้วย ชุดตรวจคัดกรองโรคไต ระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วย การจัดเก็บ ประมวลและรายงานผลแบบอัตโนมัติ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมการตรวจค่าการทำงานของไตและการแสดงแสดงผลค่าการตรวจ

โดยจากผลการศึกษาพบว่า จากอาสาสมัครกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีอาการ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังระยะต้น และมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี โดยเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ทั้งหมด 2,313 ราย มีจำนวน 595 ราย หรือคิดเป็น 25.72% ของจำนวนทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์สงสัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง โดยมีลักษณะที่เชื่อมโยงกับการเป็นโรคไตเรื้อรัง อาทิ อายุ เพศชาย โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง มีน้ำหนักตัวมาก ความยาวรอบเอวเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากนี้การตรวจความผิดปกติของปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ สามารถตรวจพบได้เร็วกว่าและบ่อยกว่าความผิดปกติของอัตราการกรองของไต โดยข้อมูลของกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าเกณฑ์สงสัยพบว่า มีจำนวนอาสาสมัครที่มีปริมาณอัลบูมินต่อครีเอตินีน ในปัสสาวะผิดปกติมากกว่าจำนวนอาสาสมัครที่มีอัตราการกรองของไตผิดปกติ

ดังนั้น การตรวจวัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะจึงมีความสำคัญในการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีการกรองของไตยังเป็นปกติ

สิทธิบัตรทอง
ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์

มีประสิทธิภาพ แม่นยำสูง ใช้งานสะดวก อ่านผลรวดเร็ว

งานวิจัยยังระบุอีกว่า ในอาสาสมัคร 68.4% ยังคงมีความผิดปกติของการทำงานของไตที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ และจากการตรวจติดตาม 3 เดือน ประเมินได้ว่า ความชุกของโรคไตเรื้อรังระยะต้นที่ไม่มีอาการในกลุ่มเสี่ยงนั้นอยู่ที่ประมาณ 17.5% เท่ากับความชุกของโรคไตเรื้อรังทุกระยะในประชากรทั่วไป ทำให้สามารถแยกประเภทของโรคไตเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนผลการทดสอบอัลบูมินในปัสสาวะด้วยชุดแถบตรวจโรคพบว่า มีค่าความถูกต้องเฉลี่ย (accuracy) 94% ค่าความไวเฉลี่ย (sensitivity) 86% ค่าความจำเพาะเฉลี่ย (specificity) 97.8% ค่า PPV เฉลี่ย 88.2% และมีค่า NPV เฉลี่ย 97.4% ในการตรวจวินิจฉัยภาวะไมโครอัลบูมินรั่วในปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการแสดงเริ่มต้นของไตเรื้อรัง

จากผลการวิจัยทำให้เห็นว่า ชุดตรวจคัดกรองไมโครอัลบูมินในปัสสาวะที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง ใช้งานสะดวก รวมถึงอ่านผลได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะเป็นชุดตรวจคัดกรองแบบ ATK (Antigen-Test Kit) จึงสามารถนำไปใช้ตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล

อีกทั้งยังสามารถนำชุดตรวจฯ ไปใช้ในภาคสนาม โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการได้อย่างสะดวกทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้มากยิ่งขึ้น

s 4440229

หนุนเข้าสู่สิทธิบัตรทอง

ทั้งนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยระบุว่า ควรมีการนำชุดตรวจคัดกรองโรคไต และช่องทางการดูแลโรคไตนี้เข้าสู่สิทธิบัตรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถใช้ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุดอย่าง รพ.สต. หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.)

ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรู้ค่าอัลบูมินที่บ่งบอกถึงการเป็นโรคไตได้ตั้งแต่ต้น และเกิดการตระหนัก รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายในภาพใหญ่ได้

ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย กล่าวว่า ชุดตรวจดังกล่าวได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรรมอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างจับมือกับเอกชนในการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อการจำหน่ายในอนาคต ส่วนเรื่องการบรรจุเข้าสู่สิทธิบัตรทอง จะต้องขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ต่อไป

สิทธิบัตรทอง
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพ ทั้งในเรื่องของการป้องกันและรักษา ซึ่งการพัฒนางานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ เป็นอีกภารกิจหนึ่งของ สวรส. ที่พยายามผลักดันให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ รวมถึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวม

ตลอดจนการขับเคลื่อนไปสู่การรับรองมาตรฐาน การรับรองจาก อย. การประเมินความคุ้มค่า ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การเสนอเข้าชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง  ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้านวัตกรรมการดูแลรักษาต่างๆ มาจากต่างประเทศ และมากไปกว่านั้นอาจมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การส่งออกนวัตกรรมของคนไทยไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo