Economics

ดีลยักษ์!! ชี้หุ้นใหญ่ ‘ทหารไทย’ รับเต็มๆ

กรณีที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB และธนาคารธนชาต (TBANK) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าได้มีการลงนามใน MOU ในข้อตกลงควบรวมกิจการ โดยจะเป็นการรวมกิจการทั้งหมด เพื่อให้เป็นนิติบุคคลเดียวตามกฎสถาบันการเงิน 1 รูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ภายหลังการควบรวมจะมีการใช้ชื่อทางการค้ารูปแบบใหม่

จากการสำรวจความคิดเห็นของโบรกเกอร์ออกมาประเมินเบื้องต้น พบว่าส่วนใหญ่มีความเห็นว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์ทหารไทย จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการควบรวมในครั้งนี้ เพราะคาดว่าจะมีสัดส่วนการถือครองหุ้นหลังควบรวมสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์ธนชาตจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

รายชื่อผู้ถือหุ้นทหารไทยก่อนควบรวม 01

บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า มูลค่าธุรกรรมดังกล่าวอยู่ที่ราว 130,000 – 140,000 ล้านบาท โดย TMB จะทำการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และการออกหุ้นเพิ่มทุน การเพิ่มทุนราว 50,000 – 55,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน PP ให้แก่ TCAP และ The Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TBANK และการเพิ่มทุนอีกส่วนราว 40,000 – 45,000 ล้านบาท จะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุน PP ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TMB หรือให้แก่นักลงทุนรายใหม่หรือนักลงทุนรายเดิม

ภายหลังการควบรวม ING และ TCAP จะถือหุ้นใน TMB ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งทั้ง ING และ TCAP ต้องเพิ่มทุนในส่วน 40,000 – 45,000 ล้านบาทด้วย จึงจะได้สัดส่วนตามที่ต้องการ โดยคาดว่า จำนวนหุ้นที่เป็น RO สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมจะสูงสุดไม่เกิน 6.8 พันล้านหุ้น หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มทุนที่ราว 15 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่

“เรามองว่าผู้ถือหุ้น TMB ได้รับประโยชน์ ส่วน TCAP อาจไม่ได้รับผลกระทบ และในอนาคตการควบรวมจะส่งผลให้ธนาคารใหม่มีโอกาสในการจากการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย”

ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า ภายหลังการควบรวม เราคาดว่าธนาคารใหม่จะมีสินทรัพย์อยู่ที่ราว 1.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นอันดับ 6 ในอุตสาหกรรมและมีกำไรสุทธิมากกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารใหม่จะได้ประโยชน์ทางภาษีหลายรายการ และได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับรายจ่าย 1.25 เท่าตามมาตรการที่สนับสนุนการควบรวม

นอกจากนี้ ยังมี Synergy ที่จะเกิดจาก Economies of Scale และการ Cross-selling จากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในอนาคตด้วย

tmbtbank

ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า ภายหลังจากการควบรวม TCAP กับ ING และ กระทรวงการคลัง จะเข้าถือหุ้น TMB ไม่ต่ำกว่า 20% ส่วน BNS จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ฝ่ายวิจัยคาดว่าราคาหุ้นเพิ่มทุนจะอยู่ที่ราว 2.50 บาท ผลกระทบต่อ TMB คาดว่าเป็นบวก บนสมมติฐานการได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลภายใต้การสนับสนุนการควบรวมสถาบันการเงิน ส่วน TCAP จะไม่เสียประโยชน์ หากถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่า 25% กรณีนี้แนะนำให้ลงทุนหุ้น TMB มากกว่า TCAP

บล.เอเซียพลัส คาดว่า โดยรวมหุ้นใหม่ของ TMB ทั้งหมด คือ 40,317 ล้านหุ้น เมื่อรวมกับหุ้นเดิม 43,852 ล้านบาท จะมีหุ้นทั้งหมด 84,169 ล้านหุ้น หรือมีผลกระทบจากการเพิ่มทุน (dilution effect) ราว 48% แต่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม TBANK ที่แลกเป็นหุ้น TMB รวมกัน 36,099 ล้านหุ้น หรือ มีส่วนแบ่งใน TMB หลังเพิ่มทุนเพียง 42.9% ต่ำกว่าที่ประเมิน 60% ภายใต้สมมติฐานเดิมที่กำหนดให้แลกหุ้นกันตรง ๆ คือ นำ 2 บริษัทมารวมกัน โดยใช้ราคาเทียบมูลค่าตามบัญชี (PBV) ที่เท่ากัน ซึ่งถือว่าผิดไปจากที่คาดหมายมาก ตรงกันข้ามฝั่งผู้ถือหุ้นเดิม TMB  กลับมีส่วนโดยรวมที่เพิ่มขึ้นกว่าคาดทุกราย ทั้ง  ING Bank คลัง และอื่นๆ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight