Economics

‘สภาพัฒน์’ เผยตัวเลขว่างงานเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ จ้างงานขยายตัว 2.4%

“สภาพัฒน์” เผยไตรมาสแรกตัวเลขว่างงานเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ ล่าสุดมีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน ขณะที่อัตราจ้างงานขยายตัว 2.4%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2566 ว่าสภาพการจ้างงานไตรมาสแรกปี 2566 มีจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรขยายตัว 1.6 % เพราะมีการเพาะปลูกเพิ่ม การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัว 2.7 %จากการจ้างงานค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรมและภัตตาคาร สอดรับกับการท่องเที่ยวขยายตัว

สภาพัฒน์

สำหรับอัตราการว่างงานเริ่มดีขึ้นอยู่ที่ 1.05 %มีผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน การว่างงานจึงเริ่มเข้าสู่ระดับปกติ ขณะเดียวกันยังได้ติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพในกลุ่มแรงงานดิจิทัลและไอที เนื่องจากสังคมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่สถาบันการศึกษามีผู้สำเร็จการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ได้เพียง 1.4 หมื่นคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานสายไอทีประมาณ 2-3 หมื่นอัตราต่อปี และต้องติดตามพฤติกรรมการเลือกงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนสูงและความสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่ และชี้แนะการหางานทำตามความต้องการของแนวโน้มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ต้องปรับหลักสูตรรองรับความต้องการของเอกชนโปรแกรมเมอร์ งานออกแบบดิจิทัล เทคโนโลยีชั้นสูง สอดแทรกในทุกอุตสาหกรรม

สภาพัฒน์

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/2565 มูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ขยายตัวในอัตราชะลอลง ไตรมาส 3/2565 ขยายตัว 4% หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วน 86.9% ของจีดีพี สินเชื่อยานยนต์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะได้เพิ่มขึ้นจาก 13.1% ไตรมาส 2/2565 เพิ่มเป็น 13.6% ในไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 13.7% ในปี 2565

ทั้งนี้ หากเข้าไปดูหนี้เสียตามรายวัตถุประสงค์ จะเห็นว่าหนี้บัตรเครดิตนั้น ลูกหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียขยายตัวขึ้นมา ขณะที่ช่วงอายุอื่น ๆ ปรับตัวลดลงมากขณะที่สินเชื่อบุคคล ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีเอ็นพีแอลขยายตัวค่อนข้างสูง และหนี้เสียต่อบัญชีประมาณ 77,000 บาท

สภาพัฒน์

ส่วนสินเชื่อยานยนต์ หนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี หรือวัยทำงาน มีปัญหาการชำระมูลค่าหนี้เสียสัดส่วน 59.2% เทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ ซึ่งต้องมาช่วยกันดู เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นกำลังแรงงาน พยายามสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งต้องให้ความรู้ทางการเงินและสร้างความตระหนักในการก่อหนี้

“ประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระ โดยเฉพาะสถาบันการเงินคงต้องช่วยกัน ถ้าลูกหนี้เริ่มมีสัญญาณ เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ ก็ต้องเข้ามาช่วยกันปรับโครงสร้างหนี้ให้เร็วขึ้น ส่วนที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้วก็คงต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงในการช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นมาตรการทั่วไป” นายดนุชา กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo