Economics

SCB EIC ชี้ส่งออกติดลบต่อเนื่อง คาดปีนี้โตได้ 1.2% เห็นสัญญาณฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

“SCB EIC” ชี้ส่งออกไทยครึ่งปีแรกน่าห่วง! หลังติดลบต่อเนื่อง คาดมูลค่าส่งออกสินค้าปีนี้ยังโตได้ 1.2% เห็นสัญญาณฟื้นตัวครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ยังมีความน่าเป็นห่วง แต่ยังมีโอกาสจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่าการส่งออกสินค้าของไทย จะยังหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) ในเดือนมีนาคมที่ยังบ่งชี้ว่าการค้าโลกอ่อนแอลงต่อเนื่อง

SCB EIC

โดยการค้าระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และอิตาลี อ่อนแอลงตั้งแต่ปลายปี 2565 และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยของฐานสูง ที่จะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่มีปัจจัยฐานสูงสุดเป็นประวัติการณ์

SCB EIC มองว่า ภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์มากขึ้น จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนของจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ซึ่งน่าจะเริ่มส่งผ่านมายังอุปสงค์การนำเข้าสินค้ามากขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศของจีนที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ชะลอลงบ้างในช่วงต้นปีผลจากเทศกาลตรุษจีน

รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเติบโตได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ช่วงปลายปีก่อน ดังนั้น SCB EIC จึงคงประมาณการการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2566 ไว้ที่ 1.2%

SCB EIC

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกสินค้าของไทย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรปที่หากลุกลาม อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น อีกทั้งความมั่งคั่งของผู้บริโภค (Wealth Effect) มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงตาม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกสินค้าไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว -4.7% โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่หากพิจารณามูลค่าการส่งออกเมื่อหักทองคำ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้สะท้อนการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นจริง) พบว่า การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หดตัวเพียง -2.5%

SCB EIC

ขณะที่การส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตร และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร กลับมาขยายตัวได้ โดยสินค้าเกษตรกลับมา ขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ที่ 1.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ที่ 5.6% ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ยังหดตัวตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -6.2%

ส่วนภาพรวมตลาดส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีความแตกต่างกันมาก โดยการส่งออกไปตลาดตะวันตก ปรับแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปตลาดจีน และตลาดศักยภาพใหม่ของไทยปรับตัวดีขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK