Economics

ยอดส่งออกรถยนต์เดือน ก.พ. พุ่ง 11.42% ส่วนยอดขายในประเทศร่วง 3.94%

“ส.อ.ท.” เผยยอดส่งออกรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 88,525 คัน พุ่ง 11.42% ส่วนยอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 165,612 คัน เพิ่มขึ้น 6.39% ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ 71,551 คัน ลดลง 3.94%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ส่งออกได้ 88,525 คัน เพิ่มขึ้น 11.42% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) มากขึ้น จึงผลิตส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้น 50.04% และ 7.44% ตามลำดับ ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและอเมริกาใต้

ส่งออกรถยนต์

ยอดผลิตรถยนต์

สำหรับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้น 6.39% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนชิปเพิ่มขึ้น จึงผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 16.17% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.39% และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ที่ 2.02% ส่งผลในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 327,939 คัน เพิ่มขึ้น 6.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยอดขายรถยนต์

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,551 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ที่ 9.11% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 3.94% ลดลงจากการผลิตรถกระบะเพื่อการขนส่งลดลงถึง 54.13% เพราะขาดชิ้นส่วนชิป ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะลดลงถึง 23.5%

ส่งออกรถยนต์
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

ยอดส่งออกรถยนต์

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ส่งออกได้ 88,525 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2% และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ 11.42% เพิ่มขึ้นเพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นจึงผลิตส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้น 50.04% และ 7.44% ตามลำดับ ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลางและอเมริกาใต้

“สถานการณ์ชิปทั่วโลกดีขึ้นตั้งแต่ช่วง ส.ค. 65 เนื่องจากโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการใช้ชิปเพื่อผลิตแล็ปท็อปลดลง จำนวนชิปจึงเพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้ยอดส่งออกของไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 65-ก.พ. 66 ดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่าปีนี้ยอดส่งออกจะอยู่ที่ 1,050,000 คัน ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิดเมื่อปี 62 ที่ 1,054,000 คัน ตั้งเป้ายอดขายในประเทศ 9 แสนคัน ซึ่งคาดว่าเป็นไปได้หากสถานการณ์เหมือนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์สงคราม และเศรษฐกิจ” นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่งออกรถยนต์

ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง

  • ประเภทไฟฟ้า (BEV) : เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 7,536 คัน เพิ่มขึ้น 763.23% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565
  • ประเภท HEV : เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 7,921 คัน เพิ่มขึ้น 47.70% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565
  • ประเภท PHEV : เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 1,249 คัน เพิ่มขึ้น 30.51% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รถยนต์นั่งไฟฟ้า (BEV) มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 5,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึง 5,061.16% และมีสัดส่วนถึง 7.85% ของยอดรวมรถยนต์นั่ง ถ้ารวมรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กตามประเทศอื่น ๆ จะมีสัดส่วน 9.67% ของยอดจดทะเบียนรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายส่งเสริมกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล จึงทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ประชาชนเข้าถึงได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้รถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้น ๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจและสามารถเลือกซื้อรุ่นรถตามความนิยมของตนได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo