Economics

‘หอการค้าไทย’ คาดจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.6% ท่องเที่ยว-เลือกตั้งหนุน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.6% การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว-การเลือกตั้งช่วยหนุน ขณะที่ส่งออกคาดโตแค่ 1.2% เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ โดยระบุว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 3.6% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รองลงมา คือการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% โดยยังมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวเช่นกัน รองลงมา เป็นการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก

จีดีพีปี 66

คาดจีดีพีปี 66 ขยายตัว 3.6%

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเห็นได้ว่าการส่งออก จะเปลี่ยนจากที่เป็นพระเอกมาตลอดใน 3 ไตรมาสแรก ลงมาเหลือแค่เพียงตัวประกอบในไตรมาส 4 ซึ่งการบริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างโดดเด่น จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ส่วนปีหน้ามองว่าการท่องเที่ยว ก็จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคาดการณ์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ คาดว่า จะอยู่ที่ 6.1% ในปีหน้าซึ่งมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเหลือ 3% นั้นเป็นเพราะโดยส่วนใหญ่ตลาดยังคงเป็นของผู้ซื้อผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเงินเฟ้อในปีนี้ที่สูงขึ้นเกิดจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นหลักซึ่งไม่สามารถควบคุมได้

จีดีพีปี 66
นายธนวรรธน์ พลวิชัย

คาดส่งออกขยายตัว 1.2%

สำหรับการส่งออกนั้น คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 1.2% จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.7% ขณะที่ในปี 2565 นั้น คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 3.3% การส่งออกขยายตัว 8% และเงินเฟ้อขยายตัว 6.1% โดยมีเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยว 5.4 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 11 ล้านคน เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 และทั้งปี 2566 ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดปรับตัวดีขึ้น, นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ทำให้เห็นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวชัดเจน, การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน, รายได้ของเกษตรกรยังขยายตัวได้ดี, ความเสี่ยงด้านภัยแล้งลดลง, เม็ดเงินจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 มีผลช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น, ธนาคารกลางหลายประเทศ ถูกกดดันให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะถดถอย, ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน, ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK