หลังจากปี 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มสามารถ ได้วางเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและวางรากฐานธุรกิจ มาถึงปี 2563 “วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” บอสใหญ่กลุ่มสามารถ ประกาศกลยุทธ์ “Unlimited Solutions” เพื่อให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยเป้าหมายรายได้รวม 20,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใส นัก แต่ กลุ่มสามารถ มั่นใจที่จะให้เป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยชูกลยุทธ์นำเสนอ โซลูชั่นและเทคโนโลยีที่หลากหลาย หรือ Unlimited Solutions
นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นในปัจจัยบวก จากนโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้วย การส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการแข่งขัน ทั้ง E-Public Services , Critical Infrastructure , Cyber Security , Green Technology และ Human Transformation ซึ่งล้วนแต่เป็นโอกาสของธุรกิจในเครือกลุ่มสามารถ
“ปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการพลิกฟื้นและวางรากฐานธุรกิจ ใหม่ของกลุ่มสามารถ มีการสร้างผลงานเด่นๆที่จะเป็นโอกาสสร้างรายได้ต่อ เนื่องในอนาคต”นายวัฒน์ชัย กล่าว
สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสสร้างรายได้ในปีนี้ คือ Digital Trunk Network ที่ติดตั้งเครือข่ายครอบคลุมไปแล้วประมาณ 90% ซึ่ง จะเป็นโอกาสในการจำหน่ายเครื่อง Digital Trunk Radio เพิ่มขึ้น ในส่วน ธุรกิจ Cyber Security ได้เปิดตัวบริษัท ซีเคียวอินโฟ อย่างเป็นทางการ โดยไอบีเอ็ม ให้สามารถเป็นพันธมิตรรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยี Watson AI มาใช้ ทำให้กลุ่มสามารถมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 40 – 50% โดยจะเป็นงานสายธุรกิจ ไอซีที มากถึง 9,500 ล้านบาท
จากปัจจัยบวกดังกล่าว กลุ่มสามารถจึงวางเป้าหมายเดินกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่องใน 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
1.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ แบ่งเป็น
- Finance/Banking Solutions อาทิ Core Banking , Payment Service , Data Center for Banks โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร จากลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายทั้ง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ รวมมูลค่ากว่า 3,000-4,000 ล้านบาท
- Airport Solutions จากโครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้น เครื่อง (CUTE) และ ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วง หน้า (APPS) ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ที่มีมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
- Cyber Security เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการที่ พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2562 จะบังคับ ใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจึงมีทั้งหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน รวมมูลค่า 200-300 ล้านบาท
- Network Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Nationwide Fiber Optic , IP Telephony จากกระทรวงมหาดไทย , การรถไฟแห่งประเทศไทย และอื่นๆ รวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท
2. กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ โดยในปี 2562 กลุ่มสามารถมีรายได้ประจำอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท และใน ปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการของสายธุรกิจไอซีที ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสเข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการกับการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค บมจ.ท่าอากาศยานไทย ธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น
3. กลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยปีนี้กลุ่มสามารถจะนำบริษัทใน เครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วง ไตรมาส 2 คือ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV ที่ ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งจะเน้นลงทุน ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ โดย SAV ถือหุ้น 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด หรือ “CATS”
ขณะที่ธุรกิจของ CATS เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำและมีการเติบโตขึ้นทุกปี จากการเติบโตท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา และเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน ที่ส่งผลต่อจำนวนเที่ยวบินที่ขึ้นลงใน สนามบินและเที่ยวบินที่บินผ่านน่านฟ้ากัมพูชาที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การมาของเทคโนโลยี 5G ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและพลิกโฉมเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก ไอโอที ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การขนส่ง ความมั่นคง ระบบการเงินรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น 5G จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจ ของกลุ่มสามารถ โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2563 เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% คิดเป็นรายได้ 20,000 ล้านบาท