Business

อย. หนุนผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ดันไทยสู่ศูนย์กลางอาหารโลกอย่างยั่งยืน

อย. พร้อมส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกที่ได้มาตรฐานปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สนับสนุนการค้าและการส่งออกอาหารจากพืช (Plant Based Foods) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกที่ได้มาตรฐานปลอดภัยอย่างยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีสินค้าอาหารจากพืช ได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย. หลากหลายประเภท เช่น เครื่องดื่มจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำนม ถั่วเหลือง น้ำนมข้าวโพด เครื่องดื่มจากพืชผักต่าง ๆ เนื้อเบอร์เกอร์จากพืช เป็นต้น

อย. มุ่งมั่นในการส่งเสริมสินค้าอาหารจากพืช ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์รักสุขภาพในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการงดหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์

อาหารกลุ่มนี้ทำมาจากพืชผัก ผลไม้ เห็ดต่าง ๆ รวมไปถึงธัญพืช และถั่ว และใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มความชุ่มฉ่ำของเนื้อสัมผัส มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่อร่อยใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ

ขณะที่ อย.มีมาตรการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารจากพืชอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเฉพาะเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นขอรับเลขสารบบอาหาร โดยให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศคู่ค้า

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม

การออกใบรับรองสถานที่ผลิตหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก การตรวจประเมินและออกใบอนุญาตผลิตอาหารจากพืชที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP โดยมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอผ่านระบบ e-Submission

นอกจากนี้ อย. ได้สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เช่น วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศที่มีศักยภาพ และประสงค์จะพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเพื่อส่งออก โดยมีโครงการส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น

พร้อมกันนี้ มีการสำรวจพืชท้องถิ่นที่จะนำมาใช้เป็นแหล่งของโปรตีน น้ำมันหรือนำมาใช้ในการผลิตอาหารจากพืช รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน GMP และโครงการเสริมสร้างรากฐานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยสู่ตลาดโลก

ผู้ประกอบการที่สนใจจะยื่นขอใบอนุญาตผลิต หรือนำเข้าอาหารจากพืช หรือยื่นขอใบรับรองเพื่อการส่งออก สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ (OSSC) 0 2590 7606-7 หรือ 0 2821 5509 หรือผ่าน Line @OSSC_FDA หรือ E-mail [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo