Business

เจาะเทรนด์ ‘ประกันสุขภาพ’ สู่การใช้ ‘คลาวด์’ ช่วยชีวิต

health passport

หากเอ่ยถึงตลาดประกันสุขภาพของไทยทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราเริ่มเห็นแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้นจากกลุ่มคนรักสุขภาพ และคนรุ่นใหม่ที่มองลึกลงไปมากกว่าการกระจายความเสี่ยง โดยสิ่งที่คนกลุ่มนี้มองหาคือการคุ้มครองระยะยาว ซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกับที่พบในสหภาพยุโรปและอเมริกา และผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเปิดกว้างสำหรับการนำนวัตกรรมมาใช้ร่วมกับการประกันภัยที่หลากหลายด้วย

โดยนายธนฉัตร แก้วใจเพชร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ของแปซิฟิก ครอส แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงแนวคิดใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นในไทยได้ไม่นานนี้ว่า ที่ผ่านมา รูปแบบการซื้อประกันสุขภาพของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยค่อนข้างมีความเฉพาะตัว นั่นคือ หากซื้อประกันสุขภาพสองหมื่นบาท ก็อาจจะมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นเพื่อให้ครอบคลุมกับเงินสองหมื่นบาทที่จ่ายไป ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่มองว่า การใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นนั้น อาจทำให้เบี้ยประกันปีต่อไปเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป และมองประกันสุขภาพเป็นการคุ้มครองระยะยาว รวมถึงมองหาตัวเลือกใหม่ ๆ ที่ทำให้พวกเขาได้รับการคุ้มครองที่สูงขึ้น

ด้านนายทอม ธอมสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) มองว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการรักษาพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น การปรึกษาอาการกับแพทย์ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล ซึ่งช่วยประหยัดเวลาให้คนไข้ไม่ต้องออกจากบ้านเพื่อมาพบแพทย์เหมือนในอดีต

health passport

(ซ้ายไปขวา) ธนฉัตร แก้วใจเพชร, ทอม ธอมสัน และปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์นอกจากนั้น นายทอมเผยด้วยว่า การมาถึงของ “คลาวด์” ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่วงการประกันสุขภาพให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากคลาวด์ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง และสามารถเข้าถึงได้จากทุกหนทุกแห่งที่มีอินเทอร์เน็ต ดังนั้น คลาวด์จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่วงการประกันสุขภาพมองหาเสมอมาได้อย่างลงตัว และคำตอบนั้นก็นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่มีชื่อว่า Health Passport หรือบันทึกข้อมูลสุขภาพบนคลาวด์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้จากทุกสถานที่ทั่วโลกนั่นเอง

มี “คลาวด์” มีโอกาสรักษา?

ส่วนหนึ่งที่แปซิฟิก ครอส มองเห็นช่องว่างดังกล่าวจนนำไปสู่ Health Passport เนื่องจากพบว่า ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้มีการสอดแทรกการเดินทางเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วเรียบร้อย ยืนยันได้จากตัวเลขการเดินทางออกนอกประเทศของนักเดินทางชาวไทยผ่าน 5 ท่าอากาศยานในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาที่มีมากเกือบหกแสนคน (อ้างอิงข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ดี ความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมาพร้อมกับความเสี่ยงในการเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุอย่างกระทันหัน ซึ่งที่ผ่านมา การรักษาค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากแพทย์และคนไข้ต้องสื่อสารกันคนละภาษา ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการรักษาอย่างถูกต้อง หรือในกรณีที่คนไข้สลบ ไม่รู้สึกตัว การจะสอบถามประวัติก็จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้เกิดการปฏิเสธการรักษา และอาจต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับมารักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า หรือโรงพยาบาลในประเทศบ้านเกิด การคิดค้นนวัตกรรมเพื่ออุดช่องโหว่นี้จึงเกิดขึ้น

โดยจุดเด่นหลัก ๆ ของ Health Passport ประกอบด้วย

  • ใช้งานได้ฟรี
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ตลอดเวลา
  • ใช้งานได้จากทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ
  • มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในที่เดียว เช่น ประวัติการรักษา ตารางการนัดหมายแพทย์ ประวัติการแพ้ยา เบอร์ติดต่อกรณีบาดเจ็บฉุกเฉิน ฯลฯ
  • มีคอลล์เซ็นเตอร์คอยให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่ผู้เอาประกันไม่รู้สึกตัว หรือไม่สามารถรับการซักประวัติได้
health passport
ภาพจาก AFP

ในจุดนี้ นายธนฉัตรเผยว่า สำหรับการเจ็บป่วยในต่างแดน บริการ Health Passport จะช่วยลดเวลาในการซักถามประวัติ และช่วยให้คนไข้เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในมุมของของนายปิยะพัฒน์ วนอุกฤษฏ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท แปซิฟิก ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) ได้มีการให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า แม้จะมีสิทธิประโยชน์อยู่ค่อนข้างมาก แต่การให้บริการ Health Passport นั้นก็มีความท้าทายอยู่เช่นกัน นั่นคือผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการบันทึกประวัติสุขภาพ “ด้วยตนเอง”

“ที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับการให้โรงพยาบาลเก็บประวัติสุขภาพให้ หรือถ้าบางคนเก็บเองก็แค่เอาใส่แฟ้ม แล้วก็ลืมมันไป แต่ในยุคดิจิทัล เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้เอาประกันต้องเป็นผู้เก็บประวัติสุขภาพด้วยตนเอง เพราะสิทธิในการบันทึกข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลจะเป็นของผู้เอาประกัน ดังนั้น ผู้เอาประกันต้องเป็นคนเลือกเองว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่จะบันทึกลงไป ส่วนบริษัทผู้รับประกันแม้จะเป็นผู้ให้บริการคลาวด์และแอปพลิเคชัน แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะก้าวล่วงเข้าไปในส่วนของข้อมูลเหล่านี้”

ทางออกที่แปซิฟิก ครอส เลือกใช้คือการทำให้การกรอกข้อมูล “ง่าย” ที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เรามีส่วนให้กรอกข้อมูลเบื้องต้น ส่วนผลแล็ป ถ้าผู้บริโภคต้องการบันทึกลงไป ก็เพียงถ่ายภาพ แล้วอัปโหลดเข้าในระบบได้เลยเช่นกัน” นายปิยะพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ จากการเปิดตัวระบบใหม่ดังกล่าว ร่วมกับแผนประกันสุขภาพที่มีให้เลือกหลายแบบ แปซิฟิก ครอส ตั้งเป้าว่าในปีนี้ จะมีเบี้ยประกันภัยรวม 403 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีเบี้ยประกันภัยรวม 273.5 ล้านบาท และจะเติบโตไปสู่การเป็นบริษัทด้านประกันสุขภาพ 5 อันดับแรกของไทยในปี 2565 ด้วยเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรวม 1 พันล้านบาทด้วย

Avatar photo