Business

ชาวไร่เฮ!! สวทช. พัฒนาชุดตรวจ ATK โรคใบด่างมันสำปะหลัง รัฐหนุนแผนครบวงจร

สวทช. พัฒนาชุดตรวจ ATK โรคใบด่างมันสำปะหลัง รัฐเดินหน้าแผนจัดการแบบครบวงจร หนุนรายได้เกษตรกร-เพิ่มมูลค่าส่งออก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีจำนวนมากถึง 5.24 แสนครัวเรือน และเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับสามของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศ เฉลี่ยหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี

ชุดตรวจ ATK

ขณะที่ ราคามันสำปะหลัง ยังคงเพิ่มสูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 2.50 บาท/ก.ก. โดยล่าสุดขยับขึ้นไปสูงถึง 2.70 และ 2.92 บาท/ก.ก

นอกจากโครงการประกันรายได้ รัฐบาลยังได้เห็นชอบแผนการจัดการกับโรคใบด่างระยะ 5 ปี (2566- 2570) ต่อจากแผนเดิม ซึ่งโรคนี้เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี 2561 และได้ก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็วคล้ายกับชุดตรวจ ATK โดยใช้กับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการทราบผลได้ภายใน 15 นาที

สำหรับชุดตรวจ ATK โรคใบด่าง สามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการผลิต และเพาะปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ การติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูก เพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

IMG 20220111143429000000
รัชดา ธนาดิเรก

ขณะนี้ สวทช. ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน เพื่อช่วยตรวจคัดกรองท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรคก่อนส่งมอบให้เกษตรกร ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการโรคใบด่างทั้งระบบแบบครบวงจร โดยแผนการจัดการกับโรคใบด่างระยะ 5 ปี ประกอบด้วย 6 มาตรการ คือ

1. การสร้างการรับรู้เรื่องโรคใบด่าง

2. เฝ้าระวังและป้องกัน

3. ควบคุมการระบาด

4. ให้ความช่วยเหลือ

5. การทำวิจัยพัฒนา

6. มาตรการติดตามประเมินผล สำหรับการวิจัยและพัฒนา

shutterstock 505394782 1

ในส่วนของการควบคุมโรค นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563-มีนาคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคในพื้นที่ระบาด 6.5 หมื่นไร่ พร้อมจ่ายค่าชดเชยการทำลายต้นเป็นโรคให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง 5,249 ราย มีการจัดส่งท่อนพันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างถึงมือเกษตรกรแล้วกว่า 25 ล้านลำ

ในปี2564 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปริมาณสูงถึง 10.38 ล้านตัน มูลค่า 1.23 แสนล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 45% และ 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2550

พร้อมกันนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมมันสำปะหลังด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเพิ่มความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo