Business

ส่งออกยางไทยสดใส ปีนี้ทะลุ 4 ล้านตัน ยกเว้นตลาดรัสเซียตกจากสงคราม

เกษตรฯ มั่นใจไทยส่งออกยางปี 2565 ยังเติบโต ตั้งเป้าทะลุ 4 ล้านตัน หลังโควิด19 คลี่คลาย ยกเว้นตลาดรัสเซียทรุดเพราะพิษสงคราม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ฑูตเกษตรไทยในภูมิภาคต่าง ๆ และรายงานของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประเมินว่า การส่งออกยางในปี 2565 เพิ่มขึ้นและจะทะลุ 4 ล้านตันหลังโควิด19 คลี่คลาย

ส่งออกยาง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยทั้งบวกและลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อเสถียรภาพราคายางและการส่งออกจากวิกฤติโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันและปุ๋ย

โดยเฉพาะตลาดรัสเซีย พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้ายางจากไทยไปรัสเซีย (มกราคม-เมษายน 2565) ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยนั้น สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จากการแพร่ระบาดโควิดในจีนที่เริ่มคลี่คลาย มีการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ตลอดจนการปลดล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา จึงมั่นใจว่ายางไทย จะสามารถยึดแชมป์ส่งออกไปจีนได้อย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าของจีนกว่า 40%

อลงกรณ์
อลงกรณ์ พลบุตร

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือในคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และการส่งเสริมและสนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน และโครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของการยางแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 จะนำสวนยางพาราของ การยางแห่งประเทศไทย จำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และในปี 2565 จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

จากนั้นในปี 2566-2567 จะดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด Carbon Market ต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางของเกษตรกรควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG Model ของกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ได้เสนอแนะให้ กยท. ขยายโครงการสวนยางยั่งยืนและโครงการคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดยขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วน เพื่อเร่งสร้างเสถียรภาพตลาดยางไทยทั้งในและต่างประเทศ เป็นการตอบโจทย์อนาคตเรื่องมาตรการ CBAM และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของอียูเป็นต้น

บาง

ปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออก ยางพารา เป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกยางรถยนต์อันดับ 3-4 ส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก จึงต้องบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสำคัญ เช่นจีนและยุโรป ที่ให้ความสำคญกับมาตรฐาน FSC เป็นต้น

นายอลงกรณ์กล่าวว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันยางไทย จึงเสนอแนะให้การยางแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มการวิจัยและพัฒนายางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยสามารถขอทุนวิจัยจากหน่วยสนับสนุนการวิจัยของรัฐได้

ส่วนรายงานสถานการณ์ยางพาราของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม คาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo