Business

‘Refill’ ธุรกิจรักษ์โลกจะรอดหรือร่วงในเมืองไทย?

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะล้นโลกผลักดันให้เกิดธุรกิจเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘Refill’ ขึ้นในซีกโลกตะวันตก โดยภายนอก Refill ก็เป็นร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคเหมือนร้านชำทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่ทำให้ Refill แตกต่างจากร้านค้าอื่นๆ คือ ลูกค้าจะต้องเป็นฝ่ายนำภาชนะหรือขวดมาใส่สินค้าด้วยตัวเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้กับโลกใบนี้

กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มนำธุรกิจนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อนและกลายเป็นที่รู้จักในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) แต่ด้วยวิถีของธุรกิจ ที่ออกจะขัดกับนิสัยรักความสะดวกสบายของคนไทย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าธุรกิจนี้จะยั่งยืนและไปได้ไกลแค่ไหน The Bangkok Insight จึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจธุรกิจใหม่นี้ไปด้วยกัน

46486026 710953399292019 9180942042052689920 n
ฤดีชนก จงเสถียร ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน Zero Moment Refillery

เริ่มจาก ‘Zero Moment Refillery’ ร้าน Refill ขนาด 30 กว่าตารางเมตร ในย่านพระราม 9 ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการมาได้ราว 2 เดือน

ฤดีชนก จงเสถียร เล่าให้ฟังว่า แรงบันดาลใจในก่อตั้งร้านนี้ มาจากความสนใจที่จะเปิดธุรกิจส่วนตัว ประกอบกับได้เห็นโมเดลร้าน Refill ในแถบยุโรปและประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดีและน่าสนใจ แต่ร้านแบบนี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย จึงคิดว่าถ้าหากตัดสินใจลงทุน ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์ เพราะแต่ละวันคนเราอาจจะสร้างขยะจำนวนมาก แต่การเข้ามาใช้บริการที่ร้าน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ต้องสร้างขยะ (ZeroMoment) ทำให้การรักสิ่งแวดล้อมของทุกคนสนุกและไม่ยากจนเกินไป

45304173 189933291890841 2874511140358979584 n
ภายในร้าน Zero Moment Refillery

สำหรับสินค้าในร้าน Zero Moment Refillery จะเป็นประเภทของกินของใช้ในชีวิตประจำวันและเข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทย ซึ่งสินค้าที่เลือกมาขายก็มีตั้งแต่น้ำยาทำความสะอาด ของใช้ส่วนตัว เมล็ดพืช เครื่องปรุงต่างๆ น้ำมันและซอส ไปจนถึงเมล็ดเจียออร์แกนิค ที่เป็น Super Food

สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือแบรนด์ออร์แกนิค ซึ่งทางร้านจะเลือกสินค้าคุณภาพและพยายามติดต่อผู้ผลิตในท้องถิ่นเอง โดยสินค้าในร้าน 90-95% จะตั้งราคาต่ำกว่าห้างสรรพสินค้าและราคาขายปลีกทั่วไป เพราะไม่มีต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ ส่วนราคาจะต่ำกว่าเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนของสินค้าแต่ละชนิด ด้านกลุ่มเป้าหมายก็เป็นลูกค้าทั่วไป ไม่ได้เจาะจงกลุ่มไหนเป็นพิเศษ

46353016 197277154489788 585071100874981376 n

นอกจากการลดขยะประเภทบรรจุภัณฑ์แล้ว จุดเด่นอีกอย่างของทางร้าน คือ ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่ต้องการ ไม่ว่าจะซื้อน้อยแค่ไหน เพราะทางร้านขายตามสินค้าน้ำหนัก ‘เริ่มต้นที่ 1 กรัม’ ลูกค้าจึงไม่ต้องซื้อสินค้าเต็มขวดเหมือนร้านทั่วไป ช่วยลดขยะที่เกิดจากสินค้าเหลือใช้ได้อีกทางหนึ่ง

‘ฤดีชนก’ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ยังไม่ได้คาดหวังเรื่อผลตอบรับและไม่ได้คิดอะไรมากมาย โดยช่วงแรกๆ ก็มีผลตอบรับค่อนข้างดี คนให้ความสนใจ แม้ส่วนใหญ่จะเดินเข้ามาแบบงงๆ และยังไม่ได้ซื้ออะไรกลับไป แต่สถานการณ์นี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องภาวนาให้พวกเขาหิ้วภาชนะกลับมาซื้ออีกครั้ง

refill station 3
ภายในร้าน Refill Station หรือ ปั๊มน้ำยา

อีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ในซอยสุขุมวิท 77/1 ยังเป็นที่ตั้งของร้าน ‘Refill Station หรือ ปั๊มน้ำยา โดยร้านแห่งนี้เปิดให้บริการ Refill เป็นแห่งแรกๆ และปัจจุบันมีอายุมากกว่า 1 ขวบปี

สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Refill Station เล่าว่า ตอนแรกที่เปิดร้านก็ยังไม่มีลูกค้าคนไทย ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ เพราะคนไทยต้องปรับตัวกับการซื้อสินค้าแบบบริการตัวเอง (Self-service) แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาก็ข่าวเกี่ยวกับวิกฤติขยะพลาสติก ทำให้ลูกค้าคนไทยให้ความสนใจทางร้านมากขึ้น

ทุกวันนี้ธุรกิจเติบโตได้ดี ร้านเลี้ยงตัวเองได้ อยู่ได้ รู้สึกว่าเสียงตอบรับดีกว่าที่คาด คิดว่าเป็นเพราะร้านเกิดขึ้นถูกเวลา ถ้าร้านเปิดก่อนหน้านี้ 1 ปี หรือหลังจาก 1 ปี ผลตอบรับอาจจะไม่ได้ดีขนาดนี้

received 2175127519408068
สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Refill Station

“สินค้าในร้านมี 25 รายการ เป็นประเภทน้ำยาทำความสะอาด แชมพู สบู่ โดยสินค้าขายดีคือน้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าประมาณ 20 ลิตรต่อเดือน ยอดขายตอนนี้รวมกันก็ประมาณ 100 กว่าลิตรต่อเดือน ซึ่งเราก็วัดเป็นขวดพลาสติกที่ลดได้ตั้งแต่เปิดร้านประมาณ 1,300 ขวด นอกจากนี้ก็มีสินค้ารักษ์โลก เช่น หลอดไม้ไผ่ ขวดน้ำ ซึ่งสินค้าพวกนี้ขายดีกว่าสินค้า Refill ด้วยซ้ำ”

ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา Refill Station ก็ได้พัฒนาตัวเองหลายด้าน เช่น การเพิ่มประเภทสินค้า ปรับระบบจัดการขยะหลังบ้าน ด้วยการแลกเปลี่ยนแกลลอนกับซัพพลายเออร์ ด้านลูกค้าของทางร้านยังอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง บริเวณสุขุมวิทหรือพร้อมพงษ์ เป็นคนวัยทำงานหรือมีความเป็นแม่บ้าน เพราะต้องอยู่ในวัยซื้อของเข้าบ้านแล้ว ส่วนวัยรุ่นหรือวัยเรียนก็มีเป็นบางครั้งบางคราว ไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ จุดเด่นของลูกค้าที่นี่คือ จะเป็นคนที่รักษาสุขภาพและใส่ใจตัวเองก่อน จากนั้นก็เผื่อแผ่ความรักไปยังสิ่งแวดล้อมด้วย

refill station 5

สำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ก็จะหาพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อจำหน่ายสินค้า Refill โดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบัน Refill Station ยังอยู่ในพื้นที่เดียวกับคาเฟ่ Better Moon รวมถึงจะหาสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันมาจำหน่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในหมวดอาหาร

นอกจากขายสินค้าปลอดบรรจุภัณฑ์แล้ว Refill Station ยังกลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติก โดยมีการจัดกิจกรรมและเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความสนใจเรื่องนี้หรืออยากทำธุรกิจนี้มาคุยกัน ทำให้ชุมชนรักษ์โลกแห่งนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ร้านนี้ไม่ใช่แค่ร้านขายของ แต่ยังเป็นที่ให้คนอยากลดขยะมาคุยกัน เพราะบางทีคนอื่นในสังคม เพื่อนที่ทำงานไม่เข้าใจ มองว่าคนที่สนใจสิ่งแวดล้อมเป็นคนเยอะๆ แต่พอคนเหล่านี้มาเจอคนเหมือนกัน ก็มาแชร์ Idea และมีพลังเดินหน้าต่อ

refill station
ภายในร้าน Refill Station

ในปัจจุบัน สุภัชญาประเมินว่า ประเทศไทยมีร้าน Refill อยู่ไม่น้อย ประมาณ 10 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นร้านพันธมิตรและเพื่อนๆ กันที่รู้จักกัน ในอนาคตร้าน Refill ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในประเทศไทย ซึ่งบางคนก็สนใจธุรกิจนี้ เพราะรักโลก อยากช่วยโลก แต่บางคนก็เห็นว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ความยากของธุรกิจนี้อยู่ที่การบริหารหลังบ้าน เพราะต้องจัดการระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าปริมาณมาก ในภาชนะขนาดใหญ่ และต้องระวังเรื่องอายุของสินค้าด้วย

แต่ถึงจะเติบโตอย่างไร ‘สุภัชญา ก็มองว่า ธุรกิจ Refill จะยังอยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่มต่อไป จนกว่าคนไทยจะเข้าใจและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือมีผู้สนใจเปิดร้าน Refill เพื่อเป็นทางเลือกให้คนเข้าถึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้แต่ร้าน Refill ในประเทศเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบเอง ก็ยังมีสาขาไม่มากและยังคงเป็นร้านค้าเฉพาะกลุ่มเช่นกัน

ไม่ว่าธุรกิจ Refill จะอยู่ในตลาด Niche หรือ Mass แต่ธุรกิจรักษ์โลกนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองในระยะสั้นว่า สามารถอยู่ได้ในเมืองไทย! แถมยังเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง และช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไปพร้อมกัน

Avatar photo