Business

ชวด 2 งวดติด ราคาพุ่งเกินเพดานประกัน ‘พาณิชย์’ เคาะไม่จ่ายชดเชยข้าวโพดงวดที่ 2

“พาณิชย์” เคาะไม่จ่ายชดเชยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งวดที่ 2 หลังราคาพุ่งเกินเพดานประกันรายได้ เฉลี่ยสูงถึงกิโลกรัมละ 9.42 บาท ส่งผลไม่ต้องจ่ายชดเชยเป็นงวดที่ 2 ติดต่อกัน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดี กรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศเรื่อง การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65

จ่ายชดเชยข้าวโพด

ทั้งนี้ มีมติไม่จ่ายเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 2 ของโครงการประกันรายได้ปีที่ 3 ที่จะจ่ายชดเชยข้าวโพด ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 และระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน-19 ธันวาคม 2564

การคำนวณส่วนต่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% สำหรับงวดที่ 2 อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 9.42 บาท สูงกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ กก.ละ 8.50 บาท หรือสูงกว่าราคาประกันรายได้ 0.92 บาท ทำให้ไม่ต้องจ่ายชดเชยเป็นงวดที่ 2 ติดต่อกัน

สำหรับการคำนวณปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ได้ใช้วิธีการเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2562/63 , 2563/64 และ 2564/65) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 700 กก. ต่อไร่ คูณด้วยจำนวนไร่ตามที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

ข้าวโพด
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

ส่วนการกำหนดราคาอ้างอิง คณะอนุกรรมการฯ ได้ใช้ราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ของกรมการค้าภายใน เฉลี่ยย้อนหลัง 30 วัน โดยถ่วงน้ำหนักราคาตามปริมาณผลผลิตรายจังหวัด 10 อันดับ ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่าน ตาก เลย นครสวรรค์ ลพบุรี เชียงราย พิษณุโลก และแพร่ เพื่อคำนวณการจ่ายส่วนต่าง

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ในกรอบวงเงิน 1,863 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะจ่ายเดือนละครั้งทุกวันที่ 20 จนสิ้นสุดโครงการ

ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทั้งประเทศ 4.5 แสนครัวเรือน ปลูกมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ รองลงมา คือ จังหวัดตาก เชียงราย และกระจายอยู่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กับหลายจังหวัดในภาคอีสานและมีภูมิภาคอื่นด้วยเล็กน้อย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo