Business

การบินไทยดัน ‘แผนจัดหาเครื่องบิน’เข้าบอร์ดวันนี้

การบินไทยชง “แผนจัดหาเครื่องบิน” เสนอบอร์ดวันนี้ ชี้ผลศึกษาชี้ต้องมีฝูงบิน 125 ลำถึงขยายตัวได้เท่าตลาด พร้อมจับมือ “สปริงแอร์ไลน์” แก้ปัญหาตลาดจีนทรุดหนัก

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าวันนี้ (26 พ.ย.) การบินไทยจะเสนอแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา หากบอร์ดเห็นชอบจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบการจัดหาได้ในเดือนธันวาคม 2561

1 TG Copy
สุเมธ ดำรงชัยธรรม

หลังจากนั้นการบินไทยจะเริ่มดำเนินการตามแผนจัดหาฝูงบินใหม่ในปี 2562 โดยต้องพิจารณาว่าจะจัดหาด้วยวิธีการซื้อหรือเช่า รวมถึงแหล่งเงินทุน โดยตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงสามารถรับมอบเครื่องบินได้

สำหรับปี 2562 การบินไทยยังไม่ได้รับมอบเครื่องใหม่ จึงอาจใช้รูปแบบการเช่าเครื่องมาใช้ก่อน รวมทั้งมีการยืดอายุการใช้งานของเครื่องบินเก่าออกไปอีก เพื่อนำมาบินเสริม เนื่องจากขณะนี้มีเครื่องบินจอดเสียรอซ่อมอยู่หลายลำ

“แค่ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มาร์เก็ตแชร์ของการบินไทยหายไป 10% ถ้าเราไม่ทดแทนเครื่องเดิมและจัดหาเครื่องบินเพิ่ม ก็จะทำให้การเติบโตยิ่งหดลง”

ขณะนี้การบินไทยตั้งเป้าหมายที่จะรักษาระดับการเติบโตให้ได้เท่ากับการเติบโตของตลาดคือประมาณ 3% หากต้องการจะให้การบินไทยเติบโตเท่าตลาดจะต้องมีเครื่องบินประจำฝูงบินไม่น้อยกว่า 125 ลำภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันการบินไทยมีรวมทั้งสิ้น 100 ลำ

Tg14

นายสุเมธ กล่าวถึงการหดตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนว่า การบินไทยได้รับผลกระทบจากตลาดจีนประมาณ 10% จึงเร่งแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับระยะสั้นล่าสุดได้ร่วมมือกับ สปริงแอร์ไลน์ สายการบินตันทุนต่ำของจีน เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อส่งเสริมคนจีนให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยช่วงเทศกาลปีใหม่ ยาวไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน

ส่วนระยะยาว การบินไทยจะรับช่วงผู้โดยสารต่อจากสปริงแอร์ไลน์ เพื่อนำผู้โดยสารเดินทางต่อจากสุวรรณภูมิไปยังประเทศในแถบยุโรปและออสเตรเลีย หรือรับช่วงต่อการเดินทางไปยังเมืองรอง โดยเที่ยวบินของการบินไทย, ไทยสมายล์ และนกแอร์ สำหรับอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทยปัจจุบันอยู่ที่ 78% ทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 80%

ส่วนการเปิดตลาดเส้นทางสหรัฐนั้น จะต้องรอให้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) พิจารณาเลื่อนระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินไทยของประเทศไทยจากระดับ 2 เป็นระดับ 1 ก่อน ดังนั้นเบื้องต้นอาจจะทำโค้ดแชร์กับสายการบินของสหรัฐ หากตลาดมีแนวโน้มที่ดีจึงจะเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-สหรัฐต่อไป

Avatar photo