Business

‘ความน่าเชื่อถือ’หัวใจสำคัญคอนเทนท์ยุคดิจิทัล

ในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นอีก “ช่องทางหลัก” เสพข้อมูลข่าวสารของผู้คนในยุคนี้ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นออนแอร์ “ทีวีดิจิทัล” 24 ช่อง ในปี 2557 ระยะเวลาผ่านมาแล้ว 4 ปี

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ในปัจจุบัน ส่งผลต่อ “ผู้ผลิตคอนเทนท์” อย่างไร  “สุทธิชัย หยุ่น” เปิดบทสนทนากับ  ต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์”  พิธีกรรายการโทรทัศน์ชื่อดัง และประธานบริษัท บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการทีวี  ถึงประสบการณ์การทำงานสื่อทีวีกว่า 30 ปี  ผ่านเฟซบุ๊ก Suthichai Live

เว็บไซต์ The Bangkok Insight  เรียบเรียง มุมมองการปรับตัว ตามการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ของ 2 ผู้อาวุโสในวงการสื่อ มานำเสนอผู้อ่านผ่านบทสนทนา ดังนี้

สุทธิชัย หยุ่น เฟซบุ๊ก ไลฟ์
Suthichai Live

สุทธิชัย : ปัจจุบันสื่อดั้งเดิม มักติดกับดัก กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์ ทำให้ไม่มีคอนเทนท์แตกต่าง และเป็นเรื่องที่คนทำสื่อ ยังไม่เข้าใจ

ไตรภพ : ในยุคนี้ สื่อควรให้ข้อมูลผู้อ่าน ไม่ใช่นำเสนอในมุมความคิดตัวเอง แต่ต้องเสนอด้วยข้อมูล ควรเสนอ ในลักษณะ “มีข้อมูลว่า…ไม่ใช่สื่อคิดว่า”

คอนเทนท์ในยุคนี้หาก “ไม่ฉลาดพอ” ช่วงแรกผู้เสพยังพอเสพคอนเทนท์เหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถยืนต่อไปได้ในระยะยาว  เพราะคอนเทนท์ ไม่ได้ให้อะไรและไม่มีความแตกต่าง

ปัจจุบันพบว่าคนเขียนหนังสือ มักเขียนด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง แต่กลับไม่มีข้อมูลสนับสนุน  ดังนั้นผู้อ่านไม่มีหน้าที่ต้องมารองรับอารมณ์ของคนเขียนหนังสือประเภทนี้

ปัจจุบันวงการธุรกิจพูดเรื่อง Disruption ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ของต่างชาติ ในต่างประเทศ เปิดคอร์สอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ  4 วัน ราคา 1 ล้านบาท มีคนไทยเดินทางไปอบรมคอร์สดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่า Disruption จะมาเมื่อไหร่ และต้องปรับตัวให้อยู่รอดอย่างไรสถานการณ์นี้

กระแสตื่นตัวเรียนรู้เรื่องนี้ มาจากสื่อในต่างประเทศให้ข้อมูลและความคิดเห็น  ไม่ได้ให้อารมณ์ แต่สื่อในประเทศไทยเน้นไปที่ให้อารมณ์

สุทธิชัย : การทำงานในวงการสื่อของคุณไตรภพ อยู่ได้ด้วยการสร้างความแตกต่าง จนยืนมาได้จนถึงวันนี้ใช่ไหม

ไตรภพ : สำหรับผู้ที่ ดูรายการ Suthichai Live กับผมตอนนี้ หากต้องการให้เกิดประโยชน์ ในยุคนี้ต้องพยายามหาช่องว่างให้เจอในธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ ดูว่ามีช่องว่างตรงจุดใด และต้องทำอะไรกับช่องว่างดังกล่าวให้เกิดประโยชน์

ตัวอย่าง คุณสุทธิชัย ปีนี้ อายุ 72 ปี และไม่ได้ทำสื่อสิ่งพิมพ์อีกต่อไปแล้ว  โดยสร้างคอนเทนท์ผ่านโซเชียล มีเดีย  มองว่าสิ่งนี้เป็นการหาช่องว่างและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ดี

การทำงานในยุคนี้ต้อง “ปรับตัว” ไปตามสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมผู้บริโภค หากวันนี้คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ก็ต้องปรับสู่ช่องทางอื่น ที่ยังมีผู้อ่านอยู่ และต้องรู้จักหาช่องว่างให้พบ

สุทธิชัย : เป็นเพราะผมเห็นโอกาสจากสื่อดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่

ไตรภพ :  เห็นด้วยกับการใช้เทคโนโลยี โดยไม่ปฏิเสธ และไม่ยึดติดกับสิ่งเก่า เพราะในยุคนี้ หากคนไม่อ่านหนังสือ ก็ต้องเปลี่ยนไปทำคอนเทนท์ให้คนฟัง-ดูแทน โดยต้องหาวิธีเข้าถึงผู้บริโภคตามความสนใจ

ในยุคนี้หากใครต้องการเป็น King ในทุกช่องทาง “ผมเชื่อว่า Reliable จะเป็น King”  เพราะ “ความน่าเชื่อถือ” เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นเรื่องที่ทำได้ “ง่าย”  เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ไม่ต้องดิ้น  คือ “รู้ก็บอกว่ารู้”  หาก “ไม่รู้ก็บอกไม่รู้”  การคุยกับคนที่น่าเชื่อถือ หรือเสพคอนเทนท์ จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ถือเป็นเรื่องที่จบทุกสิ่ง!

ไตรภพ ลิมปพัทธ์
ไตรภพ ลิมปพัทธ์

สุทธิชัย : ตลอดอายุการทำงานของคุณไตรภพ การรักษาความน่าเชื่อถือทำอย่างไร  

ไตรภพ : การใช้ชีวิตช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่ผ่านความยากลำบากมาเช่นกัน  การผ่านชีวิตที่ลำบาก ทำให้เรียนรู้รับมือกับทุกจังหวะชีวิต ที่ทำให้รู้ว่า “ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย”  และทำให้ใช้ชีวิตแบบระวังตัว คิดถี่ถ้วนในทุกจังหวะชีวิต และเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามา

“ผมและคุณสุทธิชัย ทำไอทีวี มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งและพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุด  คุณสุทธิชัย เริ่มทำรายการข่าวรูปแบบใหม่ที่ไอทีวี ส่วนผมคิดรูปแบบรายการ ฮอต นิวส์ ทางทีวี และทำทุกวัน ซึ่งได้รับความนิยมและมีเรตติ้งดี  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับไอทีวี  ไม่ใช่ว่าทำสิ่งดีแล้วจะอยู่ได้ เพราะทุกอย่างจบได้ ด้วยอนิจจัง”

หลังจากไอทีวีปิด หากเข้าใจสถานการณ์ได้ ก็จะไม่มานั่งเศร้า เพราะหากอยู่ไม่ได้ ก็เลือกจะไม่อยู่ และเดินหน้าทำงานอื่นต่อได้ เพราะต้องการเลือกทำให้สิ่งที่ถูกต้อง

ปราชญ์ ได้กล่าวไว้ว่า การจะอยู่ในสังคมได้ต้องทำตัวให้เป็นต้นอ้อ เมื่อโดนกระแสลมอ่อนก็อยู่ได้  เมื่อถูกกระแสลมแรงก็ลู่ไปตามลม  เมื่อผ่านพายุลมแรงก็ตั้งต้นอยู่ได้  อีกแบบคือ การทำตัวให้เป็นไม้ใหญ่ ยั่งรากลึกแข็งแรง สู้ลมสู้ฝน และพร้อมล้มเสมอ

ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของผม เลือกเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่พร้อมล้มและไม่ยอมเป็นต้นอ้อลู่ตามลม

วิธีการดำเนินชีวิตของคนต่าง ๆ จึงไม่เหมือนกัน  ดังนั้นจึงมีคนที่ประสบความสำเร็จทั้งที่เป็นต้นอ้อ และต้นไม้ใหญ่ รวมทั้งคนที่ผิดหวังเพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ก็มี

สุทธิชัย : ทำไมถึงเลือกเป็นคนอหังการ ไม่ก้มหัวให้ใคร

ไตรภพ :  “ปกติผมไม่ก้มหัวให้ใครอยู่แล้ว แต่ไม่อหังการ เพียงต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง” เพราะการทำงานที่ผ่านมาไม่ต้องอาศัยใคร แต่ทำงานด้วยตัวเองและทีมงานมาโดยตลอด  เริ่มทำงานมาตั้งแต่การตัดต่อเทปเอง ทำงานคลุกดิน กินฝุ่น

 สุทธิชัย : เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงสื่อจากช่วงใด

ไตรภพ :  เห็นมาตั้งแต่  35 ปีก่อนที่เข้าสู่ธุรกิจทีวีครั้งแรก เริ่มเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสื่อ จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ลงทุนทำสตูดิโอ ขณะที่ผู้ผลิตรายการในยุคนั้นต่างเป็นเจ้าของสตูดิโอทั้งสิ้น  เพราะการลงทุนในสตูดิโอ กล้องถ่ายทำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อซื้อแล้ว สินค้าจะตกรุ่นทันที  ในช่วง 35 ปีก่อน ลงทุนสร้างสตูดิโอได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึง 10 ล้านบาท  แต่เป็นธุรกิจที่ต้องการความใหม่อยู่ตลอดเวลา คือ ต้องลงทุนซื้อเทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลา ขณะที่ฝั่งต้นทุนขยับเร็ว แต่โฆษณากลับไม่ขยับตาม

ดั้งนั้นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของ บอร์นฯ จึงเลือกทำงานด้าน “ซอฟต์แวร์” ผลิตคอนเทนท์อย่างเดียว โดยไม่ลงทุนด้านฮาร์ดแวร์  เพราะมองว่าคนที่ทำงานคอนเทนท์ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ ที่ต้องการความใหม่ของอุปกรณ์อยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นจึงใช้วิธีเช่าสตูดิโอถ่ายรายการมาตลอด

ครัวคุณต๋อย
facebook.com/kruakhuntoi

สุทธิชัย : ในยุคทีวีดิจิทัล มีผลกระทบอย่างไร

ไตรภพ :  ด้วยจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นจาก 6 ช่อง ยุคทีวีอนาล็อก เป็น 22 ช่องในปัจจุบัน  ถือเป็นการแข่งขันที่กินเค้กโฆษณาก้อนเดิม ราคาโฆษณาไม่ได้ปรับขึ้น และไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนช่อง  จึงมีช่องที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถแข่งขันคอนเทนท์กับรายอื่นได้

ในยุคนี้ “แบรนด์”ของผู้ผลิต ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่ สร้างคุณภาพ อย่าหวังว่าจะอยู่ในยุทธจักรนี้ได้  เพราะในโลกยุคนี้ ที่มีสื่อจำนวนมาก หากสื่อและผู้ผลิตคอนเทนท์ ไม่มีความน่าเชื่อถือ คงต้อง“จบ” แน่นอน  และหากไม่เฉียบคม จะไม่มีทางรอด  จากตัวเลือกมีจำนวนมาก

สิ่งที่น่ากลัว คือเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา  หากไม่ตามเทรนด์ ก็จะตกเทรนด์  หรือแม้ตามเทรนด์ แต่หากคอนเทนท์ไม่เฉียบคม ก็ยากจะประสบความสำเร็จ  ดังนั้นเรื่อง “ความน่าเชื่อถือและเฉียบคม” จึงเป็น 2 ปัจจัย สำคัญที่จะอยู่รอดและไปต่อได้ในยุคนี้  “การสร้างกระแสหวือหวา เป็นคอนเทนท์ที่อยู่ได้ไม่นาน”

สำหรับสถานการณ์ทีวีดิจิทัลปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า รัฐ และ กสทช. จะทำต่ออย่างไรต่อไป  เพราะหากมองบนพื้นฐานความเป็นจริง ควรจะมีทางออกสำหรับทีวีดิจิทัล ที่ไม่สามารถไปต่อได้หรือไม่

สุทธิชัย : การปรับตัวของคุณไตรภพ และบอร์นฯ ในโลกออนไลน์  

ไตรภพ : วิธีการทำออฟไลน์ ต้องมี แม่เหล็กดึงดูดผู้ชม ให้ต้องดูผ่านทีวี ตามเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างการจดจำ  ดังนั้นการดึงคนมาอยู่ที่หน้าจอได้ รายการต้องเฉียบ แตกต่าง และใหม่อยู่ตลอดเวลา  ถือเป็นการทำงานที่ยากกว่าอดีตเป็น “ร้อยเท่า”  จากยุคทีวีอนาล็อก อาจมีรายการทำครัว 5-6 รายการ แต่ยุคทีวีดิจิทัล ทุกช่องมีรายการประเภทนี้   ดังนั้นหากไม่เป็น “ผู้นำ” จะเหนื่อยกับการทำงานเป็น “ผู้ตาม”

ด้วยเทคโนโลยีและการเติบโตของสื่อโซเชียลทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์  เชื่อว่าในอนาคตผู้ผลิตรายการทีวี  จะขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด และขอตอบคุณสุทธิชัยว่า การทำงานหาก “ไม่ตายไม่เลิก”

ไตรภพ ลิมปพัทธ์: คนทำทีวีไม่มีคำว่า ‘เหนื่อย’

Avatar photo