Business

ลุ้น!!‘ทีวีดิจิทัล’ทิ้งไลเซ่นส์หรือไปต่อ

ตลอดเดือนมีนาคมนี้ ความเคลื่อนไหว “ทีวีดิจิทัล” กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ในคดีพิพาทระหว่าง ไทยทีวี และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

สรุปใจความสำคัญในคดีนี้ ได้ว่าผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล “ขอบอกเลิกประกอบกิจการได้” เมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วไม่มีหน้าที่ ชำระค่าใบอนุญาตหลังจากบอกเลิก และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันงวดที่เหลืออยู่ทั้งหมด อันมีสาเหตุมาจาก กสทช. เปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลล่าช้า ส่งผลกระทบต่อผู้ได้รับใบอนุญาต

หลังมีคำพิพากษา 2 วัน คือ ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี  เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หลังการหารือจบ  เลขาธิการ กสทช. บอกว่าทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบทีวีดิจิทัล  โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่ง ตามมาตรา 44  เรื่องการพักจ่ายใบอนุญาต  3 ปี  และสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (Mux) 50% เป็นเวลา 2 ปี

แต่เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณา คสช. ในวันที่ 27 มีนาคม 2561  คสช. ยังไม่ตัดสินใจออกคำสั่ง มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล รวมทั้งขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาต ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ  เพื่อให้ กสทช. ศึกษามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาข้อท้วงติงจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่อง “ลำบาก” ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีกครั้ง เพราะในเดือน พฤษภาคม นี้ เป็นเวลาครบกำหนดจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 5 ของทั้ง 22 ช่องที่เหลือ ที่เกิดขึ้นท่ามกลาง ภาวะ “ขาดทุน”หลักร้อยถึงพันล้านบาท ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่

ลุ้น!!‘ทีวีดิจิทัล’ทิ้งไลเซ่นส์หรือไปต่อ

 4ปีจ่ายใบอนุญาต 3.5 หมื่นล้าน

           ในการประมูลทีวีดิจิทัล ช่วงเดือน ธันวาคม 2556 จำนวน 24 ช่อง ได้เงินประมูลรวม 50,862 ล้านบาท โดยประกาศฯ กสทช. กำหนดให้แบ่งจ่ายเงินค่าประมูลรวม 6 งวด หรือ 6 ปี ทุกเดือน พฤษภาคม หลังจากนั้นในปี 2559 คสช. มีคำสั่ง มาตรา 44 ขยายเวลาจ่ายออกไปอีก 3 ปี รวมเป็นชำระ 9 งวด

โดยยอดเงินประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะอยู่ที่ 54,422 ล้านบาท

๐ ปัจจุบันใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมียอดชำระแล้ว 4 งวด อยู่ที่ 35,330 ล้านบาท คิดเป็น 65%

๐ ยอดคงเหลือที่ต้องชำระ อยู่ที่ 18,016 ล้านบาท คิดเป็น 33%

๐ ยอดของบริษัทที่ถูกเพิกถอน (ไทยทีวี) อยู่ที่ 1,075 ล้านบาท คิดเป็น 1.98%

สำหรับยอดคงเหลือที่ต้องชำระ จำนวน 18,016 ล้านบาท สัดส่วน 33% รวม 5 งวด

งวดที่5 (คสช.งวดที่ 2) ปี 2561 จำนวน 5,144   ล้านบาท สัดส่วน 9.45%

งวดที่6 (คสช.งวดที่ 3) ปี 2562 จำนวน 4,496   ล้านบาท สัดส่วน 8.26%

งวดที่7 (คสช.งวดที่ 4) ปี 2563 จำนวน 2,791   ล้านบาท สัดส่วน 5.13%

งวดที่8 (คสช.งวดที่ 5) ปี 2564 จำนวน 2,791   ล้านบาท สัดส่วน 5.13%

งวดที่9 (คสช.งวดที่ 6) ปี 2565 จำนวน 2,791   ล้านบาท สัดส่วน 5.13%

ในสถานการณ์ที่ใกล้ครบกำหนดจ่ายเงินค่าใบอนุญาต งวดที่ 5 ในเดือนพฤษภาคมนี้ และหาก คสช.ยังไม่พิจารณาออกคำสั่งตามมาตรา 44  เพื่อช่วยเหลือด้วยการพักจ่ายเงินค่าใบอนุญาต  จึงเป็นอีกสถานการณ์ที่ลำบากในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดจะออกจากตลาด โดยยึดหลักคำพิพากษาศาลปกครองกลางในขณะนี้  ต้องคิดหนักเช่นกัน เพราะถือเป็นคืนใบอนุญาตช้ากว่า ไทยทีวี และได้จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 4 งวด มูลค่ากว่า 65% ของเงินประมูล

“หากเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ด้วยเงื่อนไขผู้ประกอบการขอบอกเลิกกิจการได้ และจ่ายค่าใบอนุญาตตามจำนวนปีที่ใช้คลื่นความถี่  เชื่อว่าทีวีดิจิทัล จะตัดสินใจคืนไลเซ่นส์ได้ง่ายขึ้น เพราะการเดินหน้าต่อต้องใช้เงินทุนอีกจำนวนมาก”

ลุ้น!!‘ทีวีดิจิทัล’ทิ้งไลเซ่นส์หรือไปต่อ
เรตติ้งทีวีดิจิทัล กุมภาพันธ์ 2561

ส่องต้นทุนทีวีดิจิทัลหากไปต่อ!

มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ต้องการไปต่อ มีต้นทุนอะไรบ้าง

๐ ค่าใบอนุญาตงวดที่ยังเหลืออยู่อีก 2 งวด สำหรับช่องที่ไม่ได้ใช้สิทธิ มาตรา 44  ขยายเวลาจ่าย และอีก 5 งวด สำหรับช่องที่ใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายใบอนุญาต  โดยเฉลี่ยช่องเอสดี (ความคมชัดปกติ) มีค่าใบอนุญาตปีละ 300 ล้านบาท  ส่วนช่องเอชดี (ความคมชัดสูง) ปีละ 400-500 ล้านบาท

๐ ค่าเช่าโครงข่ายระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน ช่องเอสดี เดือนละ 4-5 ล้านบาท หรือปีละ 48-60 ล้านบาท และช่องเอชดี เดือนละ 12-15 ล้านบาท  เดือนละ 144 -180 ล้านบาท

๐ ต้นทุนดำเนินการและบุคลากรเดือนละ 10-20 ล้านบาท หรือ 120-240 ล้านบาท

๐ ต้นทุนคอนเทนท์ ช่องเอสดี ปีละ 500 ล้านบาท  ช่องเอชดี ปีละ 1,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า“ต้นทุนคงที่”ช่องทีวีดิจิทัล นอกจากค่าใบอนุญาตยังมีต้นทุนที่ต้องจ่ายหลัก 600-1,200 ล้านบาท

ดังนั้นหากทีวีดิจิทัล ที่จะลงทุนต่อ  จึงต้องพิจารณาความพร้อมด้านเงินทุนและโอกาสการหารายได้ในอนาคตว่ามีมากน้อยแค่ไหน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยเงินกู้ให้กับทีวีดิจิทัล เช่นเดียวกับการหารายได้ที่ต้องพึงพาเรตติ้ง ถือเป็นโจทย์สำคัญของทีวีดิจิทัล ช่องที่มีเรตติ้งต่ำ ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

แม้จะมีคำสั่งมาตรา 44  มาช่วยเหลือ พักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี  แต่หากคอนเทนท์ ไม่สามารถสร้างเรตติ้งได้เหมือนช่วงที่ผ่านมา โอกาสการหารายได้หลังจากนี้ คงไม่ต่างจากช่วง 4 ปีที่ประกอบกิจการ

ลุ้น!!‘ทีวีดิจิทัล’ทิ้งไลเซ่นส์หรือไปต่อ

ทีวีดิจิทัล‘ท็อป 5’ยึดงบโฆษณา

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) มองว่าการประมูลทีวีดิจิทัล จำนวน 24 ช่อง ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง ซึ่งถือเป็นจำนวนช่องที่มากเกินไป จะเห็นได้ว่าช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาทีวี ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนช่อง โดยยังเป็นเค้กก้อนเดิมที่มีมูลค่าราว 6-7 หมื่นล้านบาท

ในยุคทีวีดิจิทัล เม็ดเงินโฆษณายังอยู่ในมือ ช่องที่ครองเรตติ้งท็อป5 สัดส่วน 90%  หากขยับเป็น ท็อป10 สัดส่วนจะขยับเป็น 95% จะเห็นได้ว่างบโฆษณาทีวี ผ่านเอเยนซี กระจายไปยังทีวีดิจิทัล ช่องที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 10 อันดับแรก “น้อยมาก” เพราะการวางแผนใช้เม็ดเงินโฆษณาทีวี ยังยึดเรตติ้งเป็นหลัก ซึ่งมาจาก “คอนเทนท์”ที่ดี และโดนใจผู้ชม

“มองว่าจำนวนช่องทีวีดิจิทัล ที่เหมาะสมกับตลาดไทยและอยู่รอดได้ น่าจะอยู่ที่ 10ช่อง”

เปิดคำพิพากษาคดีไทยทีวีชนะ กสทช.

Avatar photo