Business

ใครกุมอำนาจสูงสุดเคาะ ‘ซีอีโอปตท.’

26 พฤศจิกายน 2562 วันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครบุคคล เพื่อรับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) คนใหม่ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 4-26 พฤศจิกายน 2562 โดยซีอีโอคนใหม่ จะเข้ามาแทน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

ตอนนี้เรียกว่าลุ้นกันตัวโก่ง…ทั้งคนในปตท. และบริษัทในเครือ รวมไปถึงกัลยาณมิตรของปตท.ทั้งหลาย คงอยากจะรู้ว่าใครจะเข้ามานั่งเก้าอี้ซีอีโอปตท.คนใหม่ แทน ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่กำลังจะต้องลุกออกจากเก้าอี้ในเดือนพฤษภาคมนี้   

ล่าสุดดูเหมือนจะมีผู้สนใจสมัครชิงตำแหน่งซีอีโอปตท. อยู่ 3 คน แต่เพื่อให้ดูว่าจะมีการแข่งขัน อาจจะมีการเทียบเชิญใครบางคนเข้ามาเป็น“คู่เทียบ”อีกก็เป็นได้ สำหรับผู้ที่มีรายชื่อ ส่วนคนนอกงานนี้ปิดประตูตายได้เลย ยังไงด้วยวัฒนธรรมองค์กรอย่างปตท. คงไม่มีผู้มีอำนาจคนไหนกล้าพอ ที่จะเปิดประตูรับคนนอกเข้ามาสมัครได้ง่ายๆ เพราะที่นี่คือรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านบาท กำไรปีละกว่าแสนล้าน และเป็นบริษัทใหญ่ในตลาดหุ้น

33

รายชื่อผู้สมัครซีอีโอ หากเรียงตามน้ำหนักว่าที่ “บิ๊กบอส” คนใหม่ของปตท.นั่นคือ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ตามมาด้วย นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) และ  อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัทปตท. ทั้ง 3 ผู้สมัครต้องเรียกว่าเป็น ลูกหม้อปตท. เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ใครเข้ามาทำงานในปตท.ก่อน และหลังมากกว่า

หากไล่เรียงตามอายุของผู้สมัครแล้ววันนี้ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต อายุ 57 ปี นพดล ปิ่นสุภา อายุ 55 ปี ขณะที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ อายุ 54 ปี น่าจะเป็นผู้ที่เหลืออายุนานที่สุด แต่การสรรหาซีอีโอครั้งนี้จะมีผลต่อการเข้ารับตำแหน่งในปี 2563

นั่นหมายถึงทุกคนจะเหลืออายุในการดำรงตำแหน่งลดลงจากปัจจุบัน อย่าง วิรัตน์ เอื้อนฤมิต จะเหลือ 2 ปี นพดล ปิ่นสุภา เหลือ 4 ปี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เหลือ 5 ปี ข้อเท็จจริงอายุผู้สมัครจะเหลือกี่ปี อาจจะไม่สำคัญนัก เพราะซีอีโอ คนปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งเพียง 1 ปี 8 เดือน ก็ปรากฎมาแล้ว

หลายคนจับตาดูว่าใครคือ ผู้ได้รับคัดเลือกนั่งเก้าอี้ซีอีโอปตท.คนต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่คนในปตท.ไม่ได้คาดหวัง หรือให้ความสำคัญมากนัก นั่นคือ การเข้าดำรงตำแหน่งจะต้องเข้ามาบริหารองค์กรในวาระคราวละ 4 ปี เพราะระยะหลังอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจจะกดปุ่มเลือกใครมากกว่าอายุอาจจะไม่สำคัญ

ทันทีที่ปิดรับสมัครผู้สนใจชิงเก้าอี้ซีอีโอปตท.วันนี้ (26 พ.ย.) หากไม่มีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ภายในเดือนธันวาคมนี้คณะกรรมการสรรหาซีอีโอปตท. ที่มี ดอน วสันตพฤกษ์ ทำหน้าที่ประธานสรรหา จะเรียกผู้สมัครสอบสัมภาษณ์ ก่อนเสนอบอร์ดปตท.อนุมัติ ทุกอย่างน่าจะจบสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ รวมไปถึงการเจรจาเงื่อนไขสัญญาจ้าง

หากประเมินรายรายชื่อผู้สมัครข้างต้นแล้ว วันนี้เชื่อว่าตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของปตท.  น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต เวลานี้มีข่าวหนาหูเหลือเกินทำนองว่า มาแรงกับเก้าอี้ซีอีโอปตท.คนที่ 10 ต่อจาก ชาญศิลป์ ตรีนุชกร  แม้จะเหลือเวลาบริหารองค์กรเพียง 2 ปีก็ตาม  ขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คน ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความเหมาะสมกับตำแหน่งซีอีโอปตท.ไม่แพ้กัน แต่จังหวะและเวลาอาจจะยังไม่ใช่!!    

ชาญศิลป22
ขอบคุณภาพ: PTT News

มีคนตั้งคำถามกันมากว่า วันนี้ ใครคือผู้ที่กุมอำนาจใหญ่ในปตท.กันแน่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ “ไอ้โม่ง”

ฉะนั้นแม้วันนี้ (26 พ.ย.) ปตท. ต้องปิดฉากรับสมัครซีอีโอคนใหม่ลงก็ตาม แต่ผู้ที่จะคว้าเก้าอี้ตัวนี้ ณ เวลานี้บอกได้เลยเป็นคนอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากคนที่ชื่อ วิรัตน์ เอื้อนฤมิต  ที่มีใครบางคนตีตั๋วจองไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว ระยะเวลาจากนี้ไปคงเป็น กระบวนการคัดสรรตาม พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 นั่นเอง 

ขณะที่ระดับการศึกษา วิรัตน์ เอื้อนฤมิตจบการศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท Master of Business Administration (Financial Management), Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา

นพดล ปิ่นสุภา จบการศึกษา ปริญญาตรี และ ปริญญาโท  (วิศวกรรมไฟฟ้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  จบการศึกษา ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท พัฒนาการเศรษฐกิจมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight