Business

‘บขส.’ เฮ! ปีนี้พลิกกำไร 60 ล้านบาท ปรับแผนลดเที่ยววิ่ง ‘ภูเก็ต-เชียงใหม่’

“บขส.” เฮ! ปีนี้พลิกขาดทุนเป็นกำไร 60 ล้านบาท เดินหน้าปรับแผนเดินรถตามปริมาณผู้โดยสาร ลดเที่ยว “ภูเก็ต-เชียงใหม่” เพิ่มความถี่ “อีสาน” พร้อมจับตาภาคใต้แข่งขันสูง

71841734 2199926146779389 8897971897031983104 o
ขอบคุณภาพจากเพจ บขส.

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. พลิกฟื้นผลประกอบการจากขาดทุน 180 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60-ก.ย. 61) เป็นมีกำไรประมาณ 60 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-ก.ย. 62) เนื่องจาก บขส. ได้ดำเนินการตัดลดรายจ่าย ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ และเน้นการซ่อมบำรุงรถโดยสาร (รถทัวร์) อย่างจริงจัง

ตลอดปีที่ผ่านมา บขส. ได้เข้าไปพิจารณารายละเอียดของเส้นทางเดินรถแต่ละสายอย่างเข้มข้น เพื่อบรรจุรถให้เหมาะสมกับเส้นทาง โดยได้ลดความถี่ในเส้นทางที่มีผู้โดยสารน้อย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก ส่งผลให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 69-70% นอกจากนี้ บขส. ยังดำเนินการซ่อมบำรุงรถทัวร์ที่มีอยู่กว่า 400 คันเป็นอย่างดี เนื่องจากรถทัวร์ของ บขส. เป็นรถเก่า ถ้าหากเกิดปัญหารถเสียกลางทาง จะทำให้เสียลูกค้าได้

ในปีนี้ บขส. ยังได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยหลังเกษียณ ให้กับลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 300 วัน เป็น 400 วัน ส่งผลให้ บขส. ต้องนำรายได้ในปีงบประมาณ 2562 ไปตั้งสำรองเป็นเงินชดเชยหลังเกษียณให้พนักงานทุกคนในองค์กรกว่า 100 ล้านบาทด้วย

S 17752068

นายจิรศักดิ์กล่าวถึงทิศทางในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) ว่า บขส. ยังคงติดตามรายละเอียดของเส้นทางเดินรถทุกสายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แล้วพิจารณาปรับแผนการเดินรถให้เหมาะสม เช่น ลดความถี่ในเส้นทางที่มีผู้โดยสารน้อย บางเส้นทางอาจจะเปิดวิ่งเป็นช่วงๆ ตามความต้องการของตลาดหรือตามฤดูกาล เป็นต้น

สำหรับเส้นทางที่จะมีการพิจารณาปรับแผน เช่น เส้นทางเชียงใหม่และภูเก็ตที่มีผู้โดยสารลดลง แล้วเพิ่มความถี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่มีความต้องการสูงแทน โดยเส้นทางที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้มีสนามบินมากถึง 11-12 แห่ง ใกล้เคียงกับจำนวนสถานีขนส่งที่มีประมาณ 14-17 แห่ง ส่งผลให้การเดินทางด้วยเครื่องบินสะดวกสบายและได้รับความนิยมมากขึ้นในภาคใต้ ส่วนการเดินทางด้วยรถทัวร์ได้รับความนิยมลดลง

ผู้โดยสาร บขส.3

นอกจากนี้ บขส. พยายามปรับองค์กรให้เป็นขนส่งมวลชนระบบรอง ที่ช่วยส่งต่อผู้โดยสารให้กับขนส่งมวลชนระบบหลัก (Feeder) อย่างสถานีรถไฟหรือสนามบิน เช่น เส้นทางเดินรถไป สปป.ลาว ก็อาจมีการแวะรับ-ส่งผู้โดยสารที่สนามบินกลางทางด้วย โดย บขส. สนใจจะพัฒนา Feeder เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟในจังหวัดนครราชสีมาเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นฮับรถไฟในอนาคต อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบฟีดเดอร์ไม่ใช่เรื่องง่ายและ บขส. อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน บขส. ยังอยู่เดินหน้าแผนการจัดหาฟลีตรถใหม่เพื่อนำมาให้บริการประชาชน ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้มีปัญหาและอุปสรรคค่อนข้างมาก แต่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ โดยเมื่อประมูลได้ผู้ชนะแล้ว ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 9-10 เดือนในการส่งมอบรถต่อไป

Avatar photo