Business

แนะใช้ ‘เทคโนโลยี AR-VR’ สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ลดต้นทุนธุรกิจ เพิ่มโอกาสแข่งขันตลาดโลก

พาณิชย์ แนะ ใช้ “เทคโนโลยี AR-VR” สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า  ลดต้นทุนการทำธุรกิจ เพิ่มโอกาสแข่งขันตลาดโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล

มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ อาทิ การศึกษา การท่องเที่ยว สุขภาพ การผลิต ธุรกิจค้าปลีก ทำให้เป็นตัวเร่งการขยายตัวของตลาด Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น

เทคโนโลยี AR-VR

ใช้เทคโนโลยี AR-VR พัฒนาศักยภาพแข่งขันตลาดโลก

ทั้งนี้ จากรายงานการเติบโตของตลาด AR และ VR ปี 2565-2569 ของ International Data Corporation (IDC) แสดงให้เห็นว่าตลาด AR และ VR ทั่วโลกในปี 2565 มีมูลค่า 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มสูงถึง 5.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569 หรือเพิ่มขึ้นถึง 268.84%

สำหรับ AR หรือ Augmented Reality คือ เทคโนโลยีความจริงเสริมที่ผสานโลกเสมือนกับมุมมองโลกของความจริง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นโลกดิจิทัลไปพร้อมกับโลกจริง ณ เวลาเดียวกัน (real time) ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แว่น AR หรือสมาร์ทโฟน

เทคโนโลยี AR-VR

ขณะที่ VR หรือ Virtual Reality คือ เทคโนโลยีเสมือนจริงที่จำลองภาพแวดล้อมให้มีความเสมือนจริงอย่างสมบูรณ์ ทำให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์มุมมองโลกเสมือน 360 องศา และตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริงผ่านอุปกรณ์ VR Headset หรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อแสดงการเคลื่อนไหวในโลกเสมือนจริง โดยปัจจุบัน เทคโนโลยี AR และ VR ได้ถูกนำมาใช้เป็นจำนวนมากและในหลายสาขา

เทคโนโลยี AR-VR เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายธุรกิจ เนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจในการให้บริการลูกค้า และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจผ่านระบบเสมือนจริง รวมถึงสามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้เสมือนทดลองสินค้าและบริการจริงในต้นทุนที่ต่ำลง

ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณาใช้เทคโนโลยี AR และ VR ในการประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันธุรกิจในตลาดโลก และมีความพร้อมในการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต

เทคโนโลยี AR-VR

ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี AR-VR

  • การท่องเที่ยว สิงคโปร์ ได้พัฒนาทัวร์ AR ผ่านแอปพลิเคชัน Visit Singapore Travel Guide ในสถานที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณ Merlion Park และโรงละครวิคตอเรียและคอนเสิร์ตฮอลล์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยว
  • ประเทศไทย จังหวัดเลย ใช้เทคโนโลยี AR และ VR ที่บอกเล่าเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเลย  และสถานที่ท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริง ณ งาน Mask Festival 2023
  • ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ สหรัฐอเมริกา ใช้เทคโนโลยี AR และ VR ผ่านแอปพลิเคชัน The Met Replica เพื่อสร้างประสบการณ์เยี่ยมชมงานศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะอียิปต์ ศิลปะยุโรป และศิลปะเอเชีย รวมถึงการเข้าสู่แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ Roblox โดยผู้เล่นได้มีส่วนร่วมเป็นตัวละครสมมติกับงานศิลปะ
  • ในพิพิธภัณฑ์ อังกฤษ ใช้เทคโนโลยี VR สร้างคอนเสิร์ตเสมือนจริงของวงดนตรีป๊อปสัญชาติสวีเดนอย่าง ABBA โดยมีเพลงดังอย่าง Mamma Mia และ Dancing Queen
  • การศึกษา อินเดีย สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ณ เมืองโชธปุระ ร่วมกับมูลนิธิ TIH iHub Drishti จัดให้มีหลักสูตรการศึกษานอกเวลา ประจำปีการศึกษา 2566 – 2567 เป็นโปรแกรม MTech เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AR และ VR สำหรับผู้ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานหลายภาคส่วน เช่น การผลิต สุขภาพ การศึกษา สื่อบันเทิงเทคโนโลยี AR-VR
  • ประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ใช้เทคโนโลยี AR สร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) เพื่อใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์ให้สมจริงยิ่งขึ้น
  • ธุรกิจค้าปลีก ไทย บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ใช้เทคโนโลยี 3D-Immersive-Interactive Web 3.0 ผ่านแพลตฟอร์ม MNIVERSE ซึ่งเป็นการศูนย์การค้าบนโลกเมตาเวิร์สแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยยังมีการนำเอาเทคโนโลยี AR และ VR มาในภาคธุรกิจอื่นอีกด้วย อาทิ ธุรกิจเกม ธุรกิจการพัฒนา Mobile Application ธุรกิจการออกแบบสถาปนิก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจ จัดอบรม-สัมมนา
  • ธุรกิจสำนักงาน จีน บริษัท Lenovo ใช้เทคโนโลยี AR และ VR ในผลิตภัณฑ์แว่นตา ThinkReality VRX สำหรับลูกค้าขององค์กรและส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานกันเองภายในองค์กรโดยเฉพาะ เช่น แอปพลิเคชันสำหรับการประชุม การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือใช้เป็นการสร้างการโต้ตอบระหว่างโปรแกรมกับมนุษย์
  • ธุรกิจเครื่องสำอาง ฝรั่งเศส บริษัท L’Oréal ใช้เทคโนโลยี AR สร้างแบบทรงคิ้วอัตโนมัติผ่านอุปกรณ์ช่วยเสริมสวย L’Oréal Brow Magic และเครื่องช่วยทาลิปสติก HAPTA ที่สามารถหมุนได้ 360 องศา เพื่อช่วยผู้ที่เคลื่อนไหวมือและแขนได้จำกัด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo