Business

ธุรกิจการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ มูลค่าตลาด 3 แสนล้านฟื้นต่อ เทรนด์อีโคแพคเกจจิ้ง มาแรง

ภาคเอกชนชี้ ธุรกิจการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ ปี 2566 ฟื้น มูลค่าตลาดกว่า 3 แสนล้านบาท ดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเผยเทรนด์อีโคแพคเกจจิ้งมาแรง

นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช นายก สมาคมการพิมพ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการพิมพ์สำหรับประเทศไทย นับเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ทั้งตัวสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ให้กับสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งเติบโตไปตาม GDP ของประเทศ

อีโคแพคเกจจิ้ง

จากที่ขณะนี้ประเทศไทยมี GDP อยู่ที่ 16.5 ล้านล้านบาท โดยอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์คิดเป็น 1.8% หรือมีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 60% และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 40%

ทั้งนี้ จากปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์ รองรับกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงปัจจัยของการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาทำให้มีเงินสะพัดราว 2- 3 หมื่นล้านบาท ได้สร้างมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งระบบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภธุรกิจการพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ เติบโตแข็งแกร่งและมาแรง มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่รายย่อย ต่างเร่งวางกลยุทธ์ เน้นเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช
พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การนำเข้าและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการผลิตที่ตอบโจทย์คู่ค้าและผู้บริโภค ที่หันมาให้ความสำคัญของสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ในเรื่องรูปลักษณ์ การออกแบบที่สร้างสรรค์สวยงาม มีความปลอดภัยในการขนส่ง และคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดเด่นเป็นฐานการผลิตที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่งมั่นคงต่อเนื่อง และอยู่ในตำแหน่งภูมิศาสตร์ ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตระดับโลกในอนาคต โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยในปี 2567 จะเติบโตขึ้นกว่า 2% หรือมีมูลค่ากว่า 1.22 แสนล้านบาท

ด้าน นายประเสริฐ หล่อยืนยง นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย กล่าวว่า เนื่องจากสินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ จึงถือเป็นโอกาสในการขยายตัว ประกอบกับการวางนโยบายเป็นครัวของโลกของภาครัฐ ที่ทำให้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น

คุณประเสริฐ หล่อยืนยง
ประเสริฐ หล่อยืนยง

อีกทั้งปัจจัยด้านตลาดอีคอมเมิร์ซ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาทิ การผลิตฉลากอัจฉริยะบนบรรจุภัณฑ์ เช่นการใช้คิวอาร์โค้ดและ RFID เพื่อติดตามพัสดุ (Trace and Track) เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตระหนักรู้เรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้บรรจุภัณฑ์สีเขียวหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (อีโคแพคเกจจิ้ง) มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นศักยภาพที่ส่งผลให้อนาคตอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโตมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ในระยะ 2 ปีต่อจากนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 2% ต่อปี

คุณชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล
ชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล

ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสดีของบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ที่จะได้โชว์ศักยภาพการผลิต ที่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบกระดาษที่มีประสิทธิภาพสูง มีความยืดหยุ่น และโซลูชันที่ตอบโจทย์การผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกในรูปแบบ Box on Demand ตามความต้องการของตลาด ที่ผู้บริโภคตระหนักถึงการเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรืออีโคแพคเกจจิ้ง

ล่าสุด สมาคมบรรจุภัณฑ์ไทย สมาคมการพิมพ์ไทย และสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ร่วมกับเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จัดงานมหกรรมแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์การพิมพ์ และกระดาษลูกฟูกแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ PACK PRINT INTERNATIONAL 2023 and CorruTec ASIA 2023 ครั้งที่ 9 ขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

การจัดงานดังกล่าว เพื่อตอกย้ำศักยภาพตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่กำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ภาคบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบที่ยั่งยืน ทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo