Business

ท่าเรือสีเขียว ‘แหลมฉบัง’ สร้างโอกาส รถบรรทุกไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์-ขนส่งสินค้าทางราง

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้แผนยกระดับแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียว สร้างโอกาส 3 ธุรกิจ “รถบรรทุกไฟฟ้า-โซลาร์เซลล์-ขนส่งสินค้าทางราง คาดสร้างรายได้หลักพันล้านบาทต่อปี

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมประจำปีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงการลดมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น

ท่าเรือสีเขียว

ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ ตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการขนส่งทางเรือลง 20% ภายในปี 2573 และ 100% ภายในปี 2593

หนึ่งในแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก จากการขนส่งสินค้าทางเรือ คือ แนวทางท่าเรือสีเขียว (Green Port) หรือกระบวนการจัดการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับไทย ท่าเรือแหลมฉบัง มีการเตรียมแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับแนวทาง Green Port ภายใต้แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี 2564-2573 ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่

1. การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งมีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 0.794 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)

2. การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก 0.41 MtCO2e

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ท่าเรือ 1

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า 3 แนวทางหลักในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียว จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่

1. การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) หากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี หรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี

นอกจากนี้ หากท่าเรือแหลมฉบังมีการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าของรถบรรทุกไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากกระบวนการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะใช้ระยะเวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้น

2. การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านหน่วยไฟฟ้า ในปี 2568 เป็น 26.9 ล้านหน่วยไฟฟ้า ในปี 2579 หรือขยายตัวเฉลี่ย 11.1%CAGR ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e

3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟมากขึ้น โดยท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี

ทั้งนี้ จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1,200 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางราง ของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ

นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 แล้ว ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

การเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้า จำนวน 1,000 คัน และการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่จะสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุการใช้งาน 20 ปี

ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท ในช่วงปี 2567-2578

ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะทำให้ธุรกิจขนส่งทางรถบรรทุกที่สนับสนุนการขนส่งทางราง และธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงควรศึกษา และเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาท่าเรือสีเขียวของไทยอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo