Business

แก้ปัญหาทุเรียนอ่อน ‘สวมสิทธิ GAP-GMP’ ส่งออก กระทรวงเกษตรฯ ย้ำ ถอนใบรับรอง เอาผิดทั้งแพ่งและอาญา

กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน “สวมสิทธิ GAP-GMP”  เพื่อส่งออก หากพบถอนใบรับรอง เอาผิดทั้งแพ่งและอาญา

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ครั้งที่ 4/2566

โดยกล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ เพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด ซึ่งจากผลการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานทุเรียนคุณภาพ ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้กันอย่างเข้มข้น

ทุเรียนอ่อน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการถอดบทเรียนทุเรียนภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับจัดระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพให้เข้มข้นยิ่งขึ้น บูรณาการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ อีกทั้ง ที่ประชุมได้เห็นชอบให้พิจารณาแนวทางการจัดทำแอปพลิเคชันมาใช้กับระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้รายงานสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน (สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.66) ส่งออก 41,189 ชิปเมนต์ ปริมาณ 686,455.77 ตัน คิดเป็นมูลค่า 89,207.39 ล้านบาท

ทุเรียนอ่อน

ผลการดำเนินงานแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน และสวมสิทธิ GAP

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ และการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ปี 2566 ดังนี้

  1. ภาคตะวันออก

1.1) ตรวจก่อนตัด เกษตรกรนำผลผลิตทุเรียนมาตรวจฯ 14,477 ตัวอย่าง

1.2) ตรวจก่อนปิดตู้ แบ่งเป็น ก่อนประกาศวัน เก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2566 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 528 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 4,998 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 4,683 ตัวอย่าง (คิดเป็น 93.70%) หลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 16 เมษายน – 22 มิถุนายน 2566 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 8 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 1,061 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 1,040 ตัวอย่าง (คิดเป็น 98.02%)

1.3) ขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัด จังหวัดจันทบุรี รวม 9,908 ราย (ณ วันที่ 5 ก.ค. 66) โดยขอเชิญชวนจังหวัดที่จะเริ่มมีผลผลิตทุเรียน เข้ามาใช้บริการระบบลงทะเบียนนักคัดนักตัด ได้ที่ลิงค์ https://produrian.rmutto.ac.th/data/ ซึ่งมีรายละเอียด ชื่อ – นามสกุล ประเภทของนักคัดนักตัด และประสบการณ์ตัดทุเรียน

ทุเรียนอ่อน

  1. ภาคใต้

2.1) ตรวจก่อนปิดตู้ ก่อนประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 9 มิถุนายน 2566 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 42 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 323 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 307 ตัวอย่าง (คิดเป็น 95.05%) หลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน – 30 มิถุนายน 2566 ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ 232 โรง ตรวจสอบคุณภาพทุเรียน 701 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจ 673 ตัวอย่าง (คิดเป็น 96.01%)

2.2) ขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัด จังหวัดชุมพร จำนวน 1,139 ราย ได้จัดอบรมนักคัดนักตัดแล้ว 2,934 ราย (ชุมพร 2,826 ราย และ สุราษฎร์ธานี 108 ราย)

ทุเรียนอ่อน

กำชับหน่วยงาน ควบคุมคุณภาพทุเรียน

อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรอง GAP ของเกษตรกร เพื่อการส่งออกทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้นั้น เพื่อให้เป็นการป้องกันและควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ดังนี้

  1. กรมวิชาการเกษตร กำกับ ควบคุม ตรวจสอบ และประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรวจสอบควบคุมคุณภาพการผลิตหลังการออกใบรับรอง GAP และ GMP ให้กับสวนทุเรียนและผู้ส่งออกทุเรียน ตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชในสินค้าทุเรียนและหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ให้ใช้มาตรการทั้งทางการปกครองและทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดโดยทันที

ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ควบคุม และการตรวจสอบกักกันทุเรียนส่งออกและนำเข้า กรณีที่มีการสวมสิทธิ์ทุเรียนให้มีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยการถอดถอนใบรับรอง GAP และ GMP และให้มีการดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา กับผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทุกระดับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

และให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดในการควบคุมป้องกัน พร้อมทั้งสั่งการและควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบทางราชการโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และมีการทุจริต ให้หัวหน้าหน่วยงานสั่งการดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด

  1. กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพในทุกพื้นที่ทุกแปลง ทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตนอกฤดูและตามฤดูกาลผลิต เพื่อให้มีการจำหน่ายผลผลิตคุณภาพ และให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดใน การควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาทุเรียนออกสู่ตลาด รวมทั้งสั่งการและควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบทางราชการ โดยเคร่งครัด
  2. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัดที่มีผลผลิตทุเรียน ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยหากมีสถานการณ์ขอให้รายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบโดยด่วน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo