Business

สศก. เผยดัชนีความผาสุกเกษตรกร ปี 65 ‘ดีทุกภาค’ แต่ต้องเร่งแก้การศึกษา

ดัชนีความผาสุกเกษตรกรปี 2565 อยู่ในระดับดีทุกภาค โดยภาคกลางค่าดัชนีสูงสุด แต่ดัชนีด้านการศึกษา อยู่ที่ระดับ 50.39 เป็นระดับที่ต้องเร่งแก้ไข

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานดัชนีความผาสุกเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2565 อยู่ที่ระดับ 80.46 การพัฒนาอยู่ในระดับดีทุกภาค

ดัชนีความผาสุกเกษตรกร

ทั้งนี้ ผลการศึกษาสะท้อนถึง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยรัฐบาลจะนำไปปรับปรุงกำหนดแนวทางการทำงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทย ผ่านการศึกษาภาพรวมใน 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับดัชนีความผาสุกของเกษตรกรระดับประเทศ ในปี 2565 มีค่าอยู่ที่ระดับ 80.46 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีทุกภาค โดยภาคกลางมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 81.82 รองลงมา คือ ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 81.57 ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 80.96 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 80.08

อนุชา บูรพชัยศรี 1
นายอนุชา บูรพชัยศรี

เปิดรายละเอียดดัชนีความผาสุกเกษตรกร 5 ด้าน

1. ดัชนีด้านสุขอนามัย อยู่ที่ระดับ 99.85 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ทำให้ครัวเรือนเกษตรให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมถึงภาครัฐได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตร ตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ควบคู่กับนโยบายอาหารปลอดภัย

2. ดัชนีด้านสังคม อยู่ที่ระดับ 91.06 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก โดยพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีการดูแลซึ่งกันและกัน และภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ สร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการ และส่งเสริมการปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันครอบครัว

3. ดัชนีด้านเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 78.26 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และแรงงานเกษตร พบว่า รายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีรายได้เงินสดจากนอกภาคเกษตรมากกว่ารายได้เงินสดทางการเกษตร 2.7 เท่า

shutterstock 1772828978

4. ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ระดับ 62.67 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง โดยพบว่าปี 2565 มีพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดิน 1.76 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2.02 ล้านไร่

ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง

5. ดัชนีด้านการศึกษา อยู่ที่ระดับ 50.39 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เป็นผลมาจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 24.71% ได้รับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่าภาคบังคับ โดยค่าดัชนีของทุกภาค สะท้อนถึงการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร และเกษตรกรทุกคน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ผ่านมาตรการสำคัญในช่วงที่ผ่านมา อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo