ธ.ก.ส. พร้อมโอนเงินชดเชยประกันรายได้ชาวสวนยาง เมื่อ กยท. ส่งข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกครบถ้วน ด้านเงินชดเชยชาวนาจ่ายแล้ว 6.19 หมื่นล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 หลังจากผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 วงเงินงบประมาณ 7,566.86 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 คณะกรรมการบริหารฯ ได้เห็นชอบราคาอ้างอิงในการประกันรายได้ตามชนิดยางและอัตราค่าชดเชยรายได้ สำหรับ 2 เดือน คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 แล้ว และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 คณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้เห็นชอบให้ธนาคารดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว
ขั้นตอน หลังจากนี้ ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินไปยังเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศทันที เมื่อการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนพร้อมพื้นที่เพาะปลูกยางของเกษตรกรมาให้ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ กยท. ได้ระบุข้อมูลเบื้องต้นว่า จะมีเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 1.6 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 พื้นที่เพาะปลูกซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ประมาณ 18.18 ล้านไร่
พร้อมกันนี้ ธ.ก.ส. ยังได้รายงานถึงความคืบหน้าโครงการเกี่ยวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 โครงการ ล่าสุด มีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปลูกข้าวแล้วรวม 61,911.47 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 65/66 ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 โอนเงินชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการแล้ว 25 งวด เป็นเงิน 7,865.47 ล้านบาท มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 2,634,758 ครัวเรือน
2. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการข้าวและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 65/66 หรือโครงการไร่ละ 1,000 บาท ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 จ่ายเงินช่วยเหลือสะสมแล้ว 54,046 ล้านบาท มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 4,646,640 ครัวเรือน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ทำสวนยาง-ไร่ข้าวโพด เช็กด่วน!! ธ.ก.ส. เคาะประกันรายได้เกษตรกรแล้ว วงเงินรวมกว่า 8,282 ล้าน
- ชาวสวนยางเฮ! ครม.เคาะแล้ว ‘ประกันรายได้ยางพารา’ ปี 4 วงเงิน 7.6 พันล้าน ครอบคลุมเกษตรกร 1.6 ล้านราย
- สิ้นสุดการรอคอย เคาะประกันรายได้สวนยาง ระยะ 4 วงเงิน 7.64 พันล้านบาท