Business

สยบดราม่า ‘ซามาเนีย พลาซ่า’ ขายถล่มราคาสินค้าจีน กรมพัฒน์ฯ แจงเป็นของคนไทย ไม่ใช่ต่างด้าว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้แจง “ซามาเนีย พลาซ่า” ศูนย์ค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูกจากจีน ยันเป็นบริษัทคนไทย สามารถทำธุรกิจได้ปกติ ไม่ต้องขออนุญาต 

นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากกรณีโครงการ ซามาเนีย พลาซ่า ศูนย์ค้าปลีกค้าส่งและกระจายสินค้าราคาถูก เพื่อจำหน่ายสินค้านำเข้าจากจีนครบวงจร กลายเป็นข้อถกเถียงในแวดวงธุรกิจ หลังผู้นำเข้าสินค้าจากจีนยื่นขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจกลุ่มซามาเนีย ว่าอาจไม่ชอบตามกฎหมาย และเกรงว่าจะกระทบกับธุรกิจและเอกชนไทย

ซามาเนีย พลาซ่า

นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นปรากฏการณ์ถล่มตลาดที่มีผลมาจากนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุน e-commerce จากประเทศจีนหรือไม่นั้น

จากการตรวจสอบ พบว่า ธุรกิจในเครือข่ายซามาเนีย มีการจดทะเบียนนิติบุคคล 3 บริษัท คือ ซามาเนีย บางนา 02 จำกัด บริษัท ซามาเนีย บางนา จำกัด และบริษัท ซามาเนีย โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับทั้ง 3 บริษัท มีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย โดยมีนายเฉือก ฟ้ง อ้อ ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล 3 รายที่เกี่ยวข้อง มีสัญชาติไทย โดยมีมารดาเป็นคนไทย ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัททั้ง 3 แห่งดังกล่าว จึงไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว ตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

ซามาเนีย1

เมื่อมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทย เป็นบริษัทคนไทย ก็สามารถที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยได้ทุกอย่าง ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร การทำธุรกิจ ก็สามารถที่จะทำได้ตามปกติ ไม่ต้องมีการขออนุญาต

ทั้งนี้ ต่างจากกรณีของคนต่างด้าว ที่จะเข้ามาทำธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะต้องยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน

ในการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างชาติ เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย กรมฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ยืนยันว่า จะคำนึงถึงผลดีและผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี

จิตรกร ว่องเขตกร
จิตรกร ว่องเขตกร

ที่ผ่านมา ธุรกิจที่อนุญาต จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติ ประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะพิจารณาผลดี ผลเสียของธุรกิจที่นักลงทุนจะเข้ามาประกอบกิจการที่มีต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ และไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นนักลงทุนจากประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ชาติหนึ่งชาติใดเป็นพิเศษ นักลงทุนจากทุกประเทศ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้

lbo8hk

สำหรับข้อมูลการอนุญาตในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากรมฯ มีการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศโดยไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนชาติหนึ่งชาติใดเป็นการเฉพาะ แต่จะเน้นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติและผู้ประกอบการไทยเป็นสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo