Business

คาด ‘มหานครผลไม้’พร้อมทดสอบความสนใจของนักลงทุนปลายปีนี้

มหานครผลไม้
ภาพจากเอเอฟพี

ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมตั้งคณะทำงานจัดทำร่างศึกษามหานครผลไม้ คาดพร้อมทดสอบความสนใจนักลงทุนปลายปีนี้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ได้มีการพิจารณาการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ EFC ซึ่งคณะทำงานฯ จะศึกษาข้อมูลและยกร่างแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปคณะทำงานชุดนี้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

หลังจากนั้นจะเริ่มจัดจ้างศึกษาโครงการ EFC ที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยตามกรอบการดำเนินโครงการจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 และจัดทำการออกแบบรายละเอียด พร้อมประกาศทดสอบความสนใจของนักลงทุนช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2561

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นต่อการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดโครงการ คือ ควรศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการในอดีต กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน พิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมด้วย และเมื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการเรียบร้อยแล้ว เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารายละเอียดโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะดำเนินงานในระยะต่อไป

ส่วนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อคิดเห็นถึงโครงการ EFC ควรเชื่อมโยงกับผลไม้ทุกพื้นที่ของประเทศ และผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมถึงเชื่อมโยงการขนส่งผลไม้เพื่อเข้าสู่ตลาดกลางของโครงการ และการบริหารจัดการโครงการควรเป็นมืออาชีพ และระยะต่อไปของโครงการอาจจะพิจารณาศึกษาสินค้าอื่น ๆ ที่มีการใช้ห้องเย็นจำนวนมากเช่นเดียวกับผลไม้ เพื่อเพิ่มช่องทางส่งออกให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลไม้ตลอดห่วงโช่อุปทาน เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลไม้ และยกระดับภาคตะวันออกให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก ซึ่งจะตั้งโครงการ EFC ในพื้นที่นิคม Smart Park จังหวัดระยอง โดยภายในปีนี้จะต้องดำเนินการศึกษาทดสอบความสนใจนักลงทุนให้เสร็จและจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งระบบต่าง ๆ ปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการ EFC ได้ในปี 2563

สำหรับแผนผลักดันดังกล่าวมาจากการเติบโตของยอดการส่งออกผลไม้สดของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างสูง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไปยังตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2559  รัฐบาลจึงได้ผลักดันแผนยุทธ์ศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นชาติมหาอำนาจด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนของโลก มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อนสด และแปรรูป ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลผ่านหลายมาตรฐาน พร้อมทั้งผลักดันการค้าผ่านระบบออนไลน์เว็บไซต์ “Tmall Global”  เพื่อเจาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์เพราะสามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรง ลดปัญหาการตัดราคาจากการขายผ่านพ่อค้าชาวจีนที่มาตั้งโรงงานคัดเลือกและรับซื้อผลไม้ และที่สำคัญผู้ส่งออกยังสามารถใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับจีนได้อีกด้วย

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight