Business

‘กสิกรไทย’ ทุ่มงบกว่า 6.5 พันล้าน เข้าถือหุ้น ‘ธนาคารแมสเปี้ยน’ อินโดนีเซีย เสริมแกร่งสู่ธนาคารระดับภูมิภาค

‘กสิกรไทย’ ทุ่มงบกว่า 6.5 พันล้านบาท เข้าถือหุ้น ‘ธนาคารแมสเปี้ยน’ อินโดนีเซีย เพิ่มเป็น 67.5% เสริมความแข็งแกร่ง ในฐานะธนาคารระดับภูมิภาค

ธนาคารกสิกรไทย ส่ง กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล ดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6.5 พันล้านบาท  ส่งผลให้กสิกรไทยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นรวมในธนาคารแมสเปี้ยน เป็น 67.5%

เดินหน้านำจุดแข็งบริการและเทคโนโลยี พัฒนาบริการให้ลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ เข้าถึงโอกาสทางการเงินสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมเชื่อมโยงฐานลูกค้าธุรกิจ เสริมแกร่งการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค

กสิกรไทย

ขยายธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค

นายภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด เปิดเผยว่า ธนาคารเดินหน้ากลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดที่มีศัยกภาพสูง

ล่าสุด บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางประเทศอินโดนีเซีย และดำเนินการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในธนาคารแมสเปี้ยน ประเทศอินโดนีเซีย จากเดิมมีสัดส่วนสัดส่วนอยู่ที่ 9.99% เพิ่มเป็น 67.5% ด้วยมูลค่าการลงทุน 186.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,500 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้บริษัทของธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Controlling Shareholder) ของธนาคารแมสเปี้ยน

เข้าซื้อกิจการ ธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย

การเข้าซื้อกิจการของธนาคารแมสเปี้ยน ซึ่งเป็นธนาคารมีขนาดสินทรัพย์ 888 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 31,100 ล้านบาท และมีสาขาจำนวน 50 แห่งทั่วประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นการควบรวมกิจการ (M&A) ครั้งแรกของธนาคารกสิกรไทย ภายใต้ กลยุทธ์การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค
ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้นับว่าเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ทั้งในแง่ความต้องการสินเชื่อที่กำลังเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และในแง่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกิดจากการหลั่งไหลของการลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

กสิกรไทย

ผลักดันธนาคารแมสเปี้ยน ผ่านกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม

ธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศอินโดนีเซีย โดยจะนำประสบการณ์ ความพร้อม และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจธนาคารที่มีมายาวนานกว่า 77 ปี มาประยุกต์ ต่อยอด และเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางการเงินของ KASIKORN Business Technology Group (KBTG) มาสู่ธนาคารแมสเปี้ยน

เพื่อผลักดันให้ธนาคารแมสเปี้ยน เติบโตเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน East Java และพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มองค์กร/ธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate)
  2. กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial)
  3. กลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail)
  • กลุ่มองค์กร/ธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) ธนาคารจะเพิ่มศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อและให้บริการด้านธนาคารที่ครบวงจร  เพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนที่ตอบสนองความต้องการของ ธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ (Local Large Corporate) เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ ซึ่งกระจายอยู่ในหลากหลายสาขาธุรกิจของประเทศอินโดนีเซีย

ในฐานะผู้นำทางธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงตลาดภายในประเทศของอินโดนีเซียให้เป็นหนึ่งเดียว ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Development Plan) ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ซึ่งธนาคารเชื่อว่าแผนนี้จะสามารถผลักดันให้ประเทศอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในปลายทางการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างดี

โดยธนาคารพร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งจากธุรกิจไทย (TDI) และธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (กลุ่มประเทศ AEC+3)

  • กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial) ธนาคารให้การสนับสนุนด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางที่มีจำนวนมาก  เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีทางการเงิน ที่จะช่วยปรับปรุงระบบการชำระเงินแก่ผู้ประกอบการ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการขับเคลื่อนธุรกิจแบบรอบด้าน ช่วยให้ธุรกิจขนาดกลางกลุ่มนี้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพร้อมขยายไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในอนาคต
  • กลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail) ธนาคารมุ่งขยายฐานลูกค้ารายย่อยในอินโดนีเซียผ่านการให้บริการ โมบายแบงก์กิ้ง หรือ บริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างจำกัด แต่มีความสามารถในการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ มีฟีเจอร์ที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งพัฒนาระบบโมบายแบงก์กิ้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีแนวโน้มการใช้งานผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กสิกรไทย

ผสานจุดแข็งของ 2 องค์กรการเงิน สู่ธนาคารระดับภูมิภาค AEC+3

 ด้วยจุดแข็งด้านบริการทางการเงินและศักยภาพทางเทคโนโลยีของกสิกsไทย ผสานกับความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานในท้องถิ่นของธนาคารแมสเปี้ยน จะสามารถพัฒนาบริการ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการท้องถิ่นในอินโดนีเซีย เข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ธนาคารกสิกsไทยจะมีการต่อยอดความสัมพันธ์ จากฐานลูกค้าธุรกิจของธนาคารมีอยู่ในไทยและประเทศในภูมิภาค สร้างการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งด้านห่วงโซ่การผลิต การลงทุน และการค้า ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในไทย อินโดนีเซีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต

การเข้าซื้อกิจการธนาคารมาสเปี้ยนของธนาคารกสิกsไทย ในปี 2565 ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของการยกระดับธนาคารกสิกsไทย ในฐานะธนาคารระดับภูมิภาค AEC+3 ครั้งล่าสุดหลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจธนาคารท้องถิ่นใน สปป.ลาว ปี 2557 และได้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีนในปี 2559 และประสบความสำเร็จจากการเปิดสาขาพนมเปญ ในประเทศกัมพูชาปี 2560 และสาขาโฮจิมินห์ซิตี้ ในประเทศเวียดนามในปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo