Economics

ผ่าตัดใหญ่กฟผ. ‘ดับฝัน’ ระดับผู้ช่วย

กฟผ.1 2

“กฟผ.” จ้างไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ผ่าตัดครั้งใหญ่รื้อโครงการองค์กรใหม่ลดฝ่ายบริหารจาก 12 เหลือ 7 ฝ่าย เตรียม “ควบรวม” ฝ่ายที่ซ้ำซ้อน “ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการป่วน” บางส่วนหมดดับฝันนั่งรองผู้ว่าการกฟผ.เหตุต้องควบรวมฝ่าย เสนอบอร์ดอีกครั้งกรกฎาคมนี้คาดเริ่มใช้ 1 ตุลาคม 2561 คาด ภายใน 4 ปีเหลือพนักงาน 1.5 หมื่นคน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบในการจัดหาไฟฟ้า การพัฒนาไฟฟ้าที่มีรากฐานและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ  ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ธุรกิจพาณิชยกรรมและภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนองค์กรอย่าง “กฟผ.” ก็ต้องเปลี่ยนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้ทำให้ฝ่ายบริหารของกฟผ.ต้องหันมาปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่

ผู้ว่ากฟผ.ใหม่
วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย

แก้ปัญหาอุ้ยอ้าย-เพิ่มคล่องตัว

“กฟผ.เรามีคนเยอะมาก ปัจจุบันมีผุ้บริหารระดับรองถึง12 คน มันดูแล้วอุ้ยอ้าย  เราต้องการทำให้มันกระฉับกระเฉงขึ้น เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้นและมีความคล่องตัว นี่คือเหตุผลสำคัญของการปรับโครงสร้างครั้งนี้” ผู้บริหารระดับสูงกฟผ. กล่าว

ส่วนการปรับโครงสร้างแล้วจะเหลือสายงานอะไรบ้าง ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาคือ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด ได้ทำมาให้ฝ่ายผู้บริหารพิจารณาแล้ว 2-3 รอบ ได้เสนอให้คณะกรรมการกฟผ.พิจารณาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง ส่วนจะเหลือ 7 ฝ่ายนั้น ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้  ยังไม่สรุปตอนนี้ยังเป็นแค่ฉบับร่างเบื้องต้น แต่นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย  ผู้ว่าการกฟผ. ต้องเสนอเข้าบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง

 เน้นควบรวมภารกิจ-บุคลากร

อย่างไรก็ตาม ในหลักการฝ่ายไหนที่มีลักษณะงานใกล้เคียงกันก็จะ “ควบรวม” กัน ซึ่งจำนวนฝ่ายไม่ได้ลดลงหรือหายไปมาก  กฟผ.มีภารกิจหลัก 3 ส่วน ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่างเช่นผลิตไฟฟ้า เรามีเดินเครื่องไฟฟ่า พัฒนาโรงไฟฟ้า พัฒนาไฟฟ้าเสร็จส่งให้โรงเดินเครื่องอันนี้  ภารกิจนี้เราก็สามารถจับมา “ควบรวม” ให้อยู่ด้วยกัน เป็นต้น เพราะจะได้มีผู้บริหารระดับรองสามารถสั่งการได้เลย แต่ปัจจุบันฝ่ายพัฒนาไฟฟ้าก็มี 1 รองผู้ว่าการ เดินเครื่องไฟฟ้าก็มี 1 รองผู้ว่าการ เชื่อว่าโครงสร้างใหม่จำนวนฝ่ายไม่ได้ลดหายไปเป็นครึ่งๆ อย่างดี100% อาจจะเหลือ 97-98% ซึ่งการ  “ควบรวม” ครั้งนี้อาจต้องปรับชื่อภารกิจใหม่ด้วย

ระดับผู้ช่วยป่วนหนักตำแหน่งหาย

สำหรับผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการของแต่ละฝ่าย คงต้องมีการพิจารณากันใหม่ เพื่อความเหมาะสม “หากโครงสร้างใหม่เหลือ 7 ฝ่ายตามผลการศึกษาจริง ปีนี้ก็จะมีระดับรองผู้ว่าการกฟผ.ที่จะเกษียณอายุราชการอย่างน้อย 4-5 คน ไม่น่าจะปวดหัวสักเท่าไหร่ แต่ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ แต่ละฝ่ายบางคนอาจจะมองว่า ตัวเองไม่ได้ขึ้นระดับรองผู้ว่าการ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติที่เจอความเจ็บปวด แต่ก็มีผู้ช่วยผู้ว่าการบางคน ก็ใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว แต่บางคนก็ยังอยู่อีกนาน คนที่อยู่อีกยาวนานคงไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่คนที่ใกล้เกษียณถ้ามีการปรับโครงสร้างจริงโอกาสได้ขึ้นก็น้อยลง”  แหล่งข่าว ระบุ

ชงบอร์ดกฟผ.อนุมัติอีกครั้งก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนจากนี้ไปสำหรับการปรับโครงสร้างกฟผ. จะต้องเสนอให้บอร์ดกฟผ. ให้ความเห็นชอบอีกครั้งประมาณเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคม 2561 หากบอร์ดเห็นชอบ ก็จะมีผลทันทีในวันที่ 1 ตุลาคม 2561

ใช้ 2 รูปแบบลดพนักงานกฟผ.

ทั้งนี้การลดจำนวนพนักงานลงของกฟผ. เราจะใช้ 2 รูปแบบ คือเกษียณอายุราชการแล้วไม่รับ 2. ใช้วิธีสมัครใจการลาออก (เออร์ลี รีไทร์) ปัจจุบันกฟผ.ดำเนินการทั้ง 2 อย่างทุกปี ส่วนผู้ที่เกษียณอายุหากมีรับใหม่เข้ามาแทนก็น้อยมาก ส่วนปีนี้จะไม่มีการรับทดแทนเพราะกฟผ.กำลังปรับโครงสร้างใหม่  ส่วนผู้ที่เข้าโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ จะจ่ายให้ 10 เดือนเหมือนผู้ที่เกษียณอายุปกติ

ผู้บริหารระบุว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามที่ที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมานั้นภายใน 3-4 ปีกฟผ.จะเหลือพนักงานประมาณ 1.5 หมื่นคน

กฟผ.4

 ภายใน4ปีเหลือพนักงาน 1.5 หมื่นคน

ก่อนหน้านี้ นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ระบุว่ากฟผ.มีเป้าหมายที่จะลดพนักงานเหลือ 1.5 หมื่นคน จากปัจจุบันที่ 2.18 หมื่นคน ภายใน 4 ปี หรือปี 2564-2565 โดยปี 2561 จะมีผู้ที่เกษียณอายุประมาณ 1,300-1,700 คน ปี 2562 -2563 จะมีปีละประมาณ 1,700 คน ส่วนปี 2564  กว่า 1,400 คน โดยภายใน 4 ปี จะลดพนักงานได้ประมาณ 6,800  คน จะทำให้องค์กรมีขนาด 1.5 หมื่นคน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight