Digital Economy

‘กูเกิลไทย’ ผุดเครื่องมือ ‘ตรวจข่าวจริง’ รับเลือกตั้ง 24 มี.ค.

“กูเกิ้ลไทย” ผุดเครื่องมือ “ตรวจข่าวจริง” รับเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เชื่อช่วยลดการนำเสนอข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด

น.ส.สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิ้ล ประเทศไทย เปิดเผยว่า กูเกิ้ล ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ International Fact-Checking Network (IFCN) เพื่อนำเครื่องมือชื่อ Fact Check มาเพื่อเพิ่มความถูกต้องและแม่นยำในการค้นหาข้อมูล โดยบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้เครื่องมือ Fact Check แล้ว และกูเกิ้ลเตรียมนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

เครื่องมือชื่อ Fact Check จะทำงานด้วยการให้สำนักข่าวและผู้ผลิตเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ (Trusted Partner) ช่วยแยกแยะข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและลดการนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด (Misleadind Information) โดยเครื่องมือ Fact Check จะขึ้นว่าสำนักงานข่าวหรือผู้ผลิตเนื้อหารายใดเป็นผู้ตรวจสอบ (Verify) ข้อเท็จจริงดังกล่าว

ดังนั้น กูเกิ้ลจึงต้องขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ในประเทศไทย เพื่อช่วยยืนยันสำนักข่าวหรือผู้ผลิตเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือ หลังจากนั้นสำนักข่าวต่างๆ จะต้องไปขึ้นทะเบียนและฝึกอบรมการใช้งานเครื่องมือ Fact Check กับกูเกิ้ลก่อน จึงสามารถใช้งานได้

091A1527
สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิ้ล ประเทศไทย

เบื้องต้นคาดว่า กูเกิ้ลจะจัดการอบรมสำนักข่าวในกรุงเทพฯ รุ่นแรกได้ในต้นเดือนหน้า หลังจากนั้นจะขยายไปยัง จ.เชียงใหม่ และ จ.ขอนแก่น ต่อไป แต่ยังรับปากไม่ได้ว่า คนไทยจะเริ่มใช้เครื่องมือ Fact Check ได้เมื่อใด แต่จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดและเริ่มได้ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพราะเข้าใจว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ

“เราพยายามทำให้มันเที่ยงตรงที่สุดด้วยการพึ่งพานักข่าว ถ้าสำนักข่าวนั้นรายงานข่าวโดยไม่ได้ Fact Check เราก็ไม่สามารถ Fact Check แทนได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีหัวค่อนข้างใหญ่ ก็ต้องกลั่นกรองตัวเองก่อน จากนั้นจึงเข้าไปในระบบหลังบ้านและปรากฎเป็น Fact Check ในการค้นหา” น.ส.สายใยกล่าว

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือ Fact Check ไม่ได้ใช้ในการเลือกตั้งเท่านั้น อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกายังใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นๆ เช่น ข้อถกเถียงเรื่องโลกแบน หรือข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น

google ไทย กูเกิ้ล

นอกจากนี้ กูเกิ้ลได้จัดอบรม ‘Google Newslab Training’ ให้แก่ผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศไทย รวมถึงเร่งแปลข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการรายงานข่าวเป็นภาษาไทย เพื่อสนับสนุนการนำเสนอข่าวในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น การใช้ Flourish เป็นเครื่องมือสร้างกราฟฟิก เป็นต้น ผู้สื่อข่าวสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและสีสันต์ในการรายงานข่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากกูเกิ้ลช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้

Avatar photo