COLUMNISTS

Sharing Economy ต่อยอดธุรกิจอสังหาฯ

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
111

BKK Insight1

เศรษฐกิจแบ่งปัน หรือที่คุ้นหูกันดีว่า Sharing Economy หากจะพูดถึงกันในชั่วโมงนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ยังน่าสนใจ เพราะทั่วโลกได้พัฒนาเครือข่ายการให้บริการ Sharing Economy อย่างกว้างขวาง ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย มีความยืดหยุ่นสูง โดยใช้วิธีการเช่าทรัพย์สินและบริการ ซึ่งต้นทุนค่าเช่ากลับถูกกว่าการซื้อมาเป็นเจ้าของ เพราะเราจ่ายค่าเช่าเฉพาะสิ่งที่เราต้องการ แค่ในช่วงเวลาที่เราใช้งาน หรือจ่ายเงินเพื่อใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ทรัพย์สินและการบริการร่วมกัน

ปัจจุบันเราเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจที่อาศัยแนวคิดนี้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอล ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นว่าจะซื้อหรือเช่า เช่น อุตสาหกรรมเพลง เราอาจเลือกซื้อที่เป็นซีดี แผ่นเสียง หรือเป็นไฟล์ดิจิตอล รวมทั้งอาจฟังผ่านสตรีมมิ่ง ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์เราอาจเลือกซื้อเป็นของตนเองหรือเช่าชั่วคราว รวมทั้งใช้บริการผ่าน Grab เป็นต้น จึงมองได้ว่าอีกไม่นานทั่วโลกก็ต้องออกมาให้การยอมรับและจะส่งผลให้กระแสแห่ง Sharing Economy เติบโตขึ้นไปอย่างรวดเร็ว และจะเป็นโอกาสในการเติบโตของอีกหลายธุรกิจใกล้ตัวเรา โดยรายได้จากธุรกิจที่ดำเนินตามระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังผลการวิจัยของไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์คาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาดเติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 5 แสนล้านบาท

ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างโอกาสในการเติบโตของ Sharing Economy ที่ต่อยอดธุรกิจจากภาคอสังหาริมทรัพย์ครับ เป็นที่ทราบกันดีว่ารูปแบบการอยู่อาศัยในมหานครทั่วโลกนั้นถูกปรับรูปแบบมาในลักษณะอาคารชุด หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งคอนโดมิเนียมในบ้านเราก็เติบโตไปไม่ต่างจากมหานครอื่นๆ นั่นคือ ขนาดห้องจะเล็กลงเรื่อยๆ ในต่างประเทศถึงกับมีคอนโดมิเนียมที่ขนาดไม่ถึง 10 ตารางเมตรกันเลยทีเดียว แต่การที่ขนาดห้องมีพื้นที่เล็กลงเรื่อยๆ นั้น กลับเป็นการจุดประกายให้เกิดธุรกิจ Sharing Economy ตามมามากมาย

ทั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่เก็บของ ธุรกิจนี้ถูกออกแบบให้รองรับสังคมเมืองที่แออัด แต่แม้ขนาดห้องจะจำกัดก็ไม่สามารถทิ้งนิสัยบ้าสมบัติได้ การได้ครอบครองเสื้อโค้ทตัวโต หรืออุปกรณ์กีฬา เช่นชุดอุปกรณ์กอล์ฟ อุปกรณ์ดำน้ำ ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะเมื่อไหร่ที่ต้องการใช้หรือต้องการเก็บก็สะดวกสบาย และอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ก็คือธุรกิจทำความสะอาดรายชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าตอบโจทย์สังคมคอนโดมิเนียมอย่างดี เพราะการจะจ้างแม่บ้านประจำก็อาจจะดูมากเกินไป การใช้บริการรูปแบบแบ่งปันนี้จึงเป็นคำตอบที่หลายคนต้องการ และยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดจากด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ธุรกิจรับเคลื่อนย้ายสิ่งของ หรือแม้แต่ธุรกิจแบ่งปันอาหารที่รับประทานไม่ทัน เห็นหรือไม่ครับว่าบางธุรกิจนั้นเราแทบคาดไม่ถึงเลยว่าจะมีอยู่จริง

BKK Insight2

การเติบโตของ Sharing Economy ส่วนสำคัญมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาตอบสนองผู้บริโภคอย่างตรงจุด ผู้บริโภคเองก็ได้รับสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการในขนาดหรือปริมาณที่พอดี อีกทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้ทันสมัยและเอื้อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การเป็น Sharing Economy

สำหรับโครงการใหม่ๆ ได้พัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบ อย่างล่าสุด บริษัทอสังหาฯ ชั้นนำแห่งหนึ่งของไทยเรา ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการยานพาหนะระบบเช่า (Car Sharing) รายแรกของประเทศ เพื่อให้บริการแก่ลูกบ้านอีกด้วย นอกจากนี้บางโครงการมีรถยนต์ไฟฟ้าที่จอดไว้ในอาคารชุดที่สมาชิกสามารถจองใช้โดยมีค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อขับออกจากโครงการไปในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก สมาชิกท่านอื่นสามารถใช้แอปพลิเคชันตรวจสอบว่ามีรถเหลือให้ใช้งานหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอง ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้นโดยออกแบบคอนโดมิเนียมให้มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกันและครอบคลุมความต้องการในการใช้ชีวิตที่สำคัญ เช่น จัดทำพื้นที่ co-working space ให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการสามารถมาเช่าพื้นที่ด้านล่างของอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงาน ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่อยากอยู่เพียงในห้องพักขนาดเล็กของตัวเอง บางแห่งทำห้องครัวใหญ่ส่วนกลาง สำหรับให้ทุกบ้านมาประกอบอาหาร มีห้องอาหารขนาดใหญ่ใช้ร่วมกัน มีแปลงปลูกผักร่วมกัน ห้องอ่านหนังสือร่วมกัน ซึ่งการที่ผู้ประกอบการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้ขึ้นมาไม่เพียงแต่ช่วยให้สังคมของที่อยู่อาศัยแห่งนั้นน่าอยู่มากขึ้น แต่ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอาคารชุดแห่งนั้นด้วยครับ