COLUMNISTS

ทำปี ‘หมูทอง’ ให้กลายเป็น ‘ปีทอง’ ของเกษตรกร

Avatar photo
464

วันเวลาเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว เผลอแป๊บเดียวก็ส่งท้ายปีจอเข้าสู่ปีหมูทองกันแล้ว ในแต่ละปีที่ผ่านไป สำหรับเราๆ ท่านๆ ในฐานะประชาชนเต็มขั้น นอกจากการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆในชีวิตแล้วยังควรได้ทบทวนถึงสิ่งที่ได้ทำไปตลอดทั้งปีที่ผ่านมาด้วย

รัฐบาลเองก็เช่นเดียวกันควรได้ทบทวนนโยบายในทุกๆ ด้านที่ได้ปฏิบัติไปว่ามีสิ่งใดสำเร็จ หรือยังไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ เช่นเรื่องการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพารา และปาล์มที่ราคาตกต่อเนื่อ งแม้รัฐบาลจะพยายามออกหลายมาตรการมาช่วยเหลือ แต่ก็เป็นการแก้ไขแบบเฉพาะหน้า ที่ไม่สามารถยกระดับราคาให้สูงขึ้นตามแผนที่วางเอาไว้

สัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดตัว นโยบาย 5 คูณ 2 แก้ปัญหายางพารา และราคาปาล์มตกต่ำ ซึ่งทั้งยางพาราและปาล์มต่างก็มี 5 นโยบายเหมือนกันจึงกลายเป็น 5 คูณ 2 เพื่อพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร

S 10567690

ในที่นี้ขอพูดถึงเฉพาะนโยบายด้านปาล์มค่ะ มีรายละเอียดดังนี้

  1. ประกันรายได้เกษตรกร ที่กก.ละ 4 บาท 25ไร่ได้ทุกคน
  2. ประกาศใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ทั่วประเทศ บี 20 ในการขนส่ง การประมง และ บี100เพื่อสิ่งแวดล้อมในการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว
  3. เสนอกฎหมาย พรบ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ฉบับสภาเกษตรกร ให้มีการซื้อปาล์มคุณภาพตามราคาคุณภาพ ที่ราคาหน้าโรงงาน ปรับสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้เอื้อกับเกษตรกร
  4. นำน้ำมันปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ เพื่อปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
  5. ประกาศนโยบายสนับสนุนการส่งออกและใช้นโยบายชะลอการนำเข้า หรือการผ่านแดนของน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้ จะสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทุกประเภท รวมถึงกำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสนับสนุนการบริโภคน้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าด้วย

โดยเชื่อว่าด้วยนโยบายทั้งหมดนี้จะดูดซับสต็อกที่ล้นอยู่ จนกดทับให้ราคาอยู่ในระดับต่ำ ขยับกลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เกษตรกรไม่ขาดทุน และมีความมั่นคงในอาชีพ

ในทางปฏิบัติจะเริ่มต้นจากการลงทะเบียนเกษตรกรสวนปาล์มทั่วประเทศ ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท เมื่อหักกับต้นทุนผลิต 3 บาทแล้ว เกษตรกรจะมีกำไร 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยผลผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3,000 กิโลกรัมหรือ 3 พันตันต่อไร่ ก็จะเท่ากับว่าเกษตรกรมีกำไรภายใต้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไร่ละ 3,000 บาทต่อปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรจะมีสวนราว 20 ไร่ ก็จะมีรายได้ 60,000 บาทต่อปีหรือ 5,000 บาทต่อเดือน

ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนปาล์ม 5 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 15ล้านตันผลปาล์มต่อปี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้คำนวณตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับการประกันรายได้ให้ชาวสวนปาล์มที่ 4บาทต่อกก. ประกันที่ 25 ไร่

ต้องเข้าใจด้วยว่า เรายังมีมาตรการอื่นที่จะช่วยยกระดับราคาผลปาล์มเพิ่มขึ้นด้วย โดยหากราคาปาล์มอยู่ที่ 4 บาทอยู่แล้ว รัฐบาลก็จะไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อมาประกันรายได้เลย จะใช้งบประมาณส่วนนี้ก็ต่อเมื่อราคาปาล์มต่ำกว่า 4 บาทเท่านั้น

มาตรการที่จะช่วยยกระดับราคาปาล์มน้ำมันซึ่งทางพรรคตั้งเป้าหมายว่าให้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยการปรับโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มที่เป็นธรรมและแข่งขันได้ คือ ให้แบ่งปันรายได้จากเมล็ดในคืนกลับให้เกษตรกร ซึ่งจะทำให้ราคาผลปาล์มเพิ่มขึ้น 0.75 บาทต่อกิโลกรัม และให้รับซื้ออัตราน้ำมันที่ 20% ซึ่งจะทำให้ราคาผลปาล์มขึ้นอีก 0.75 บาท

รวมถึงการกำหนดราคาน้ำมันปาล์มอ้างอิง ณ หน้าโรงงานสกัด โดยให้ผู้ซื้อปลายทางเป็นผู้รับภาระราคาค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและเคลื่อนย้ายผลปาล์มข้มเขตจังหวัด ส่งผลให้บริหารจัดการคุณภาพผลปาล์มได้ง่ายขึ้น และประสิทธิภาพของโรงงานสกัดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย มาตรการนี้จะช่วยให้ราคาผลปาล์มเพิ่มขึ้นอีก 0.30 บาทต่อกิโลกรัม

20180802 093206

ขณะเดียวกันก็มีมาตรการเสริมในเรื่องพลังงานชีวภาพ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานชีวภาพหรือไบโอแก๊ส ที่ได้จากน้ำเสียของโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะช่วยให้ราคาผลปาล์มเพิ่มขึ้น 0.20 บาท

นอกจากนี้จะมีการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล เช่น การใช้ B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่รวมถึงเรือประมง ที่ในปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลประมาณร้อยละ 25 ของการใช้ต่อวัน หรือประมาณวันละ 15.75 ล้านลิตรต่อวัน หากปรับมาใช้ B 20 ก็จะเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ 0.80 ล้านตันต่อปี

การใช้ B 10 ในรถขนาดเล็กจากเดิมที่ใช้ B7  ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลร้อยละ 75 ของการใช้ต่อวัน หรือประมาณวันละ 47.25 ล้านลิตรต่อวัน สามารถเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ 0.40 ล้านตันต่อปี และการใช้ B100 ในเครื่องจักรกลทางการเกษตร/เครื่องยนต์รอบช้า จะสามารถเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ 0.10 ล้านตันต่อปี รวมถึงการส่งเสริมการใช้ในการผลิตโอลิโอเคมีคอน สามารถเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ 0.20 ล้านตันต่อปี

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความคิดผลิตชุดนโยบาย เชื่อว่า นโยบายปาล์ม-ยางพารา แบบ 5 คูณ 2 จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรทั้งชาวสวนปาล์มและสวนยางพารา ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พ้นจากความทุกข์ ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จากปัญหาราคาปาล์มและยางพาราตกต่ำ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบครบวงจร

แน่นอนว่าถ้าเราได้เป็นรัฐบาลนโยบายเหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนทันที และในฐานะนักการเมืองซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขแก้ปัญหาให้กับประชาชน ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะมีแนวทางแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือเกทับบลัฟแหลก เพื่อคะแนนนิยมทางการเมืองโดยขาดความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ

แต่อยากให้ช่วยกันทำปี “หมูทอง” ให้กลายเป็น “ปีทอง” ของเกษตรกร