COLUMNISTS

5 คูณ 2 คืนความเป็นธรรม-ฟื้นชีวิตเกษตรกร

Avatar photo
526

ปชป. เปิดนโยบาย 5 คูณ 2 เพื่อคืนความเป็นธรรมและฟื้นชีวิตเกษตรกร แก้ปัญหาราคาปาล์มและยาง ตกต่ำ ชู ประกันรายได้ปาล์ม 4 บาท ยาง 60 บาทต่อกิโล 25 ไร่ ได้ทุกคน ดันใช้ยางในประเทศเพิ่มปีละ 1 ล้านตัน ใช้โฉนดสีฟ้า ช่วยชาวสวนยาง 3 แสนครัวเรือน แก้ปัญหาไร้เอกสารสิทธิ์ มั่นใจแก้ปัญหายั่งยืน ช่วยเกษตรกรมีชีวิตมั่นคง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะ ร่วมกันเปิดนโยบาย ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และ นโยบายยางพารา เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มและยางพาราตกต่ำ นโยบาย 5 คูณ 2 แบ่งออกเป็น 5 นโยบายปาล์มและ 5 นโยบายยางพารา

5 นโยบาย แก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

  1. ประกันรายได้เกษตรกร ที่กก.ละ 4 บาท 25ไร่ได้ทุกคน
  2. ประกาศใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ทั่วประเทศ บี 20 ในการขนส่ง การประมง และ บี100เพื่อสิ่งแวดล้อมในการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว
  3. เสนอกฎหมาย พรบ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ฉบับสภาเกษตรกร ให้มีการซื้อปาล์มคุณภาพตามราคาคุณภาพ ที่ราคาหน้าโรงงาน ปรับสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้เอื้อกับเกษตรกร
  4. นำน้ำมันปาล์มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ เพื่อปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
  5. ประกาศนโยบายสนับสนุนการส่งออกและใช้นโยบายชะลอการนำเข้า หรือการผ่านแดนของน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้จะสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทุกประเภท รวมถึงกำหนดโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรมทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และสนับสนุนการบริโน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าด้วย โดยเชื่อว่าด้วยนโยบายทั้งหมดนี้ จะ ดูดทรัพย์ สต๊อกที่ล้นอยู่ จนกดทับให้ราคาอยู่ในระดับต่ำ ขยับกลับขึ้นมา อยู่ในระดับที่ เกษตรกรไม่ขาดทุน และมีความมั่นคงในอาชีพ

S 10567690

5 นโยบาย แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

  1. การประกันรายได้ที่ยางกิโลกรัมละ 60 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ทั้งสวนยางที่มีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย
  2. ผลักดันราคายางให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ 20 % ต่อปี (1 ล้านตัน) ทั้งการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ การทำถนนพาราแอสฟัลติกคอนกรีต การปูอ่างเก็บน้ำ และการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าและการส่งออก
  3. จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นสังคมสวัสดิการ แบบสมัครใจจ่ายสมทบ ตามมาตรา 49(5) พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558
  4. แก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 300,000 ครัวเรือน พื้นที่สวนยาง 5 ล้านไร่ ด้วยโฉนดสีฟ้า คือการยกระดับโฉนดชุมชน เพื่อให้พี่น้องได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ ภายใต้กรอบสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 43(2) และ 57(2)
  5. สร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางด้วยชุดความคิดสวนยางยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยว ให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการปลูกพืชร่วมยาง ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และทำเกษตรผสมผสาน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างธนาคารอาหารในสวนยาง สร้างสุขภาวะชาวสวนยางที่ดี และเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน อย่างน้อย 30 % ของสวนยางทั้งประเทศ อันเป็นการพึ่งพาตัวเองตามทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง

S 10567691

รัฐบาลต้องสนับสนุนเงินปลูกแทนเพิ่มเติมตามมาตรา 49(2) อีกไร่ละ 10,000 บาท รวมเป็นไร่ละ 26,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทำสวนยางยั่งยืน ตามเมนู 5 ของระเบียบการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการปลูกแทน

ทั้งนี้เชื่อว่า นโยบายปาล์ม=ยางพารา แบบ 5 คูณ 2 จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรทั้งสวนปาล์มและสวนยางพารา ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พ้นจากความทุกข์ ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน จากปัญหาราคาปาล์มและยางพาราตกต่ำ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบครบวงจร

ทีมนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้