Digital Economy

เปิดแนวคิด “แท็กซี่ลีมูซีน” อนาคตใหม่แท็กซี่ไทย?

แท็กซี่ลีมูซีน
คุณหัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร และแท็กซี่ลีมูซีน

“มองข้ามช็อต” คำ ๆ นี้เกิดขึ้นได้กับทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม ขอเพียงผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และรู้ว่าโฟกัสที่ถูกต้องของธุรกิจควรจะอยู่ที่ตรงจุดใด และการมองข้ามช็อตนี้ก็กำลังเกิดขึ้นแล้วกับธุรกิจ “แท็กซี่ไทย” ที่ปัจจุบัน มีผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศส่วนหนึ่งมองว่ายังให้บริการได้ไม่ดีพอกับความคาดหวังนัก หากแต่มีอีกหนึ่งผู้บริหารที่เชื่อมั่นว่า หากพัฒนาอย่างถูกต้องแล้ว แท็กซี่ไทยเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและเป็นตัวช่วยเพิ่ม GDP ให้กับประเทศได้อย่างแน่นอน

ผู้บริหารที่เรากล่าวถึงคือ “หัสดินทร์ เอี่ยมชีรางกูร” อดีตวิศวกรไทยที่เคยศึกษาและทำงานอยู่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐ ก่อนจะกลับมาช่วยกิจการครอบครัว ด้วยการกุมบังเหียนธุรกิจแท็กซี่สีเขียวของบริษัท โฮวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สู่ความท้าทายในยุค Digital Disruption (หลายคนอาจคุ้นหน้าเขากันมาแล้วเมื่อครั้งเปิดตัวบริการ “อูเบอร์แท็กซี่” ที่เขาเคยนำแท็กซี่ในเครือกว่า 5,000 คันเข้าร่วมในบริการดังกล่าวด้วย)

หัสดินทร์เล่าย้อนถึงการกลับมาช่วยกิจการครอบครัวว่า “ช่วงเริ่มต้นไม่สนุกเลย เหมือนเรากับคนขับแท็กซี่สื่อสารกันไม่เข้าใจ จนมาเจอคุณตาท่านหนึ่ง เขามาซื้อรถให้ลูกเขยเขา แกเล่าว่าแกขับแท็กซี่จนสามารถส่งลูกสาวจบปริญญาโทคนหนึ่ง และปริญญาตรีคนหนึ่งได้ มันทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองใหม่ ผมมองว่าแท็กซี่ของเรา จริง ๆ แล้วเหมือนร้านค้าหนึ่งร้าน ถ้าเกิดเขาเอารถไปหากินได้ดี เขาก็ดูแลครอบครัวได้ดี แล้วพอเขามีลูกเขย เขาก็คิดถึงเรา กลับมาหาเราอีก มันทำให้ผมคิดว่า จริง ๆ แล้วงานของเรามันมีความหมายอีกความหมายหนึ่งซ่อนอยู่”

“ผมก็เลยกลับมาคิดใหม่ว่า จะทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ให้เขา (คนขับแท็กซี่) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ผมก็วิ่งหาโรงแรม อ้อนวอนกันเป็นปีๆ กว่าเขาจะให้เราเข้าไปวิ่งรับผู้โดยสาร บางโรงแรมไม่ยอม ผมต้องเอาเงินไปวางประกันให้ว่า ไม่เป็นไร ถ้ามีเรื่องเสียหายให้เก็บเงินได้กับผม เพื่อให้รถของเราได้มีโอกาสที่ดีกว่า แล้วเราก็ควบคุมคุณภาพ ผมไปยืนเฝ้าตามหน้าโรงแรมเลยนะ ใครแต่งตัวไม่เรียบร้อยไม่ให้เข้าไปรับผู้โดยสาร ช่วงแรก ๆ ก็มีคนขับแท็กซี่หลายคนโกรธผมมากเลย ที่ไปบังคับเขา แต่พอเขายอมเปลี่ยน แต่งกายดีขึ้น ได้เข้าไปรับผู้โดยสารกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น และมีรายได้มากขึ้น เขาก็เข้าใจว่าที่เราทำนั้น เราหวังดีกับเขา”

“ผลที่ได้รับกลับมาเลยกลายเป็นคนขับรถแท็กซี่กลับไปบอกญาติของเขาว่ามาออกรถกับเราสิ เราดูแลดีนะ หาที่ทำมาหากินให้ วิ่งได้เงินเยอะกว่าในเวลาที่น้อยกว่า เราก็ได้การสนับสนุนเข้ามา ส่วนโรงแรมที่เราเข้าไปทำ เขาก็พูดกันปากต่อปาก จนทุกวันนี้ ถ้าพูดจริง ๆ คือโรงแรมเราไม่ต้องทำตลาดแล้ว แต่จะมีติดต่อมาว่า มีที่ตรงนี้ สนไหมให้เราเข้าไปวิ่ง”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หัสดินทร์เคยทำและสามารถมัดใจคนขับแท็กซี่ได้นั้น วันนี้กำลังเจอกับความท้าทายใหม่ที่ใหญ่กว่า นั่นคือ รายได้ตามมิเตอร์ ซึ่งเป็นรายได้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มตามอัตราเงินเฟ้อไม่ทัน เหตุเพราะไม่มีการปรับอัตราค่าบริการมานานหลายสิบปี ซึ่งเขาเองก็เคยลองพิสูจน์ด้วยตัวเองหลายครั้งด้วยการลงไปขับแท็กซี่เอง

“ผมตั้งใจว่า ขอสัก 1,000 บาทแล้วจะหยุดขับ แต่เชื่อไหม ถ้าเป็นเมื่อก่อน ขับแต่เช้า บ่ายๆ ก็ได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ ออกเช้าเหมือนเดิม แต่ต้องเย็นมากๆ ถึงจะได้ครบพัน ซึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้ว ขับทั้งวัน 12 – 14 ชั่วโมงได้เงินเฉลี่ย 400 – 500 บาท ในขณะที่แอพพลิเคชัน Ride-Sharing ที่เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ถึงจะแพงกว่าแต่คนก็ยังเรียกใช้ นี่จึงนำมาซึ่งคำถามว่า แล้วทำไมบริการแท็กซี่ที่มีอยู่เดิม ถึงไม่ปรับให้ทัดเทียมกัน ลองปรับดูก่อนไหม แล้วมาดูกันว่า คุณภาพมันจะดีขึ้นหรือเปล่า เพราะสุดท้ายคนที่ดี ๆ ถ้าเกิดความไม่เป็นธรรมกับเขา เขาก็เลิกขับ ผมมองว่าแบบนี้ทำให้อุตสาหกรรมมีปัญหามากขึ้น”

ตลาดที่ ‘ตาย’ แล้ว VS ตลาดเกิดใหม่

จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น หัสดินทร์ชี้ว่า เมื่อมีคนขับแท็กซี่น้อยลง การปฏิเสธผู้โดยสารก็จะเพิ่มขึ้น และการจะหลุดจากวงโคจรหายนะนี้ได้ ก็ต้องมองหาตลาดใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทน นั่นคือการยกระดับรถแท็กซี่ให้มีคุณภาพสูงขึ้น และปรับค่าโดยสารให้สูงขึ้นผ่านชื่อบริการ “แท็กซี่ลีมูซีน”

 “แท็กซี่ลีมูซีน” คือบริการรถโดยสารสาธารณะรูปแบบใหม่ที่เน้นให้บริการตามจุดที่มีความต้องการใช้งานแท็กซี่สูง โดยเฉพาะในย่านใจกลางเมือง เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ซึ่งทำให้แท็กซี่ลีมูซีนเป็นรถที่มีจุดจอดเฉพาะ ไม่มีการวิ่งตามท้องถนนเพื่อรับผู้โดยสารเหมือนแท็กซี่ทั่วไป

หัสดินทร์ในฐานะผู้พัฒนาระบบชี้ว่า แท็กซี่ลีมูซีนคือผลจากการปรับตัวของธุรกิจแท็กซี่ ที่ไม่ต้องการรอเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใส่ลงในรถแท็กซี่ด้วยตัวเอง

“จุดที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มจากต่างประเทศคือ เรามีมิเตอร์ดิจิทัล (ลักษณะคล้ายแทบเล็ต) ซึ่งจะคำนวณค่าใช้จ่ายจากล้อที่หมุนจริง ดังนั้นผู้นั่งจึงจ่ายจริงตามระยะทางที่รถวิ่ง ไม่ใช่จากการประมาณการ อีกข้อคือความปลอดภัย เนื่องจากคนขับต้องล็อกอินเข้าระบบก่อน (โดยการรูดใบขับขี่) ถ้าคนขับไม่ล็อกอิน ก็จะไม่สามารถเก็บค่าบริการลูกค้าได้ อีกทั้งการล็อกอินเข้าระบบทำให้เกิดความโปร่งใส ทั้งคนนั่ง ทั้งผู้ให้บริการทราบได้ว่าคนขับเป็นใคร ขับอยู่ ณ จุดไหน (ในมิเตอร์มีจีพีเอสในตัว) และประการสุดท้ายคือ เรารองรับระบบ e-Payment ของรัฐบาล ทำให้สามารถชำระได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเงินสด บัตรเครดิต หรือการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Payment)”

02

นอกจากมิเตอร์ดิจิทัลแล้ว เมื่อหันมาพิจารณาภายในตัวรถ ก็พบว่าภายในตัวรถยังติดตั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น กล้องวงจรปิด ปุ่มขอความช่วยเหลือ สัญญาณไวไฟ ฯลฯ เอาไว้อย่างครบครัน

การคัดเลือกพนักงานเข้ามาขับแท็กซี่ลีมูซีนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย และอาจเรียกได้ว่า มองเห็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมแท็กซี่ไทยเลยก็ว่าได้ เนื่องจากพนักงานจะเปลี่ยนสถานะจากคนขับแท็กซี่มาสู่พนักงานบริษัท จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเชื้อเพลิงอีกต่อไป เพราะบริษัทจะออกให้ทั้งหมด ส่งผลให้พนักงานสามารถจดจ่อกับหน้าที่เพียงอย่างเดียวได้ นั่นคือ การให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ส่วนเงื่อนไขสำหรับการคัดเลือกพนักงานที่สนใจ นอกจากจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่สาธารณะแล้ว ยังต้องมีใจรักงานบริการ และต้องการก้าวหน้าในสายอาชีพด้วย

“เราดูทุกด้าน ทั้งเรื่องว่าต้องมีใบขับขี่ที่ถูกต้อง ไม่มีประวัติเสียหาย จากนั้นก็ดูคุณลักษณะ ทัศนคติ ว่าเหมาะสำหรับขับรถในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่ เพราะแน่นอนว่าค่าตอบแทนก็จะมากกว่าขับแท็กซี่ธรรมดา เช่น ถ้าเป็นแท็กซี่ปกติอาจได้วันละ 400 – 500 บาท แต่มาขับแท็กซี่ลีมูซีนจะได้ 700 – 800 บาทขึ้นไป ไม่รวมทิป ซึ่งผมมองว่าเป็นการให้โอกาสคนทำงาน เพราะถ้ามองคนขับแท็กซี่จริง ๆ เขาคืออาชีพที่ถูกละเลยมานาน เขาไม่เคยได้ขึ้นเงินเดือนมาหลายสิบปี ถ้าเป็นอาชีพอื่นคงอยู่ไม่ได้แล้ว”

หัสดินทร์ยังเผยด้วยว่า “แท็กซี่ลีมูซีนจะเป็นรถที่มีทะเบียนถูกต้อง จะไม่มีแท็กซี่ป้ายดำเลย เพราะเรามองที่ผู้โดยสารก่อน ในเมื่อผู้โดยสารจ่ายในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ทุกอย่างต้องถูกต้องหมด รถต้องจดทะเบียนรถสาธารณะ ประกันภัยก็ต้องเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ คนขับก็ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ เพื่อว่าจะได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมย้อนหลัง 5 ปี เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร”

เอ่ยมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจอยากทราบราคาเริ่มต้นสำหรับบริการแท็กซี่ลีมูซีนกันแล้ว แท็กซี่ลีมูซีนเริ่มต้นที่ 120 บาท เดินทางกิโลเมตรละ 15 บาท ถ้ารถติดคิด 5 บาทต่อนาที รวมถึงมี e-receipt หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้โดยสารเมื่อถึงจุดหมายด้วย โดยภายในจะระบุข้อมูลการเดินทางทั้งหมด และมีแผนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปีนี้

 

บริการแตกต่าง จุดจอดก็ต้อง “แตกต่าง”

“เราไม่ต้องการให้แท็กซี่ลีมูซีนไปเบียดเบียนพื้นผิวจราจร เราจึงต้องมีจุดจอดเฉพาะ เพื่อรองรับในย่านที่ผู้คนมีกำลังซื้อสูง แต่ยากจะหารถแท็กซี่มาตอบโจทย์ได้ เช่น โรงแรม หรือโรงพยาบาลใจกลางเมือง” โดยหัสดินทร์เผยว่า เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ความต้องการเรียกแท็กซี่เข้ามารับผู้โดยสารมีมากถึง 400 – 500 คันต่อวัน ซึ่งแม้จะมีการจับมือกับแพลตฟอร์มเรียกรถจากต่างประเทศ แต่ก็รองรับได้เพียง 40 – 50 คัน หรือ 10% เท่านั้น สุดท้าย ผู้โดยสารก็ต้องออกไปเรียกรถแท็กซี่จากภายนอกอยู่ดี แต่ถ้าหากมีผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เข้าไปรองรับในจุดนั้นได้ และให้บริการที่มีคุณภาพ ก็เชื่อว่า จะเป็นทางเลือกให้กับผู้โดยสารที่มีศักยภาพได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะเริ่มต้น บริษัทเตรียมรถแท็กซี่ลีมูซีนสำหรับให้บริการเอาไว้ 20 คัน โดยเป็นรถยนต์ฮอนด้ารุ่น HRV ทั้งหมด และจะขยายเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้งานของผู้บริโภค รวมถึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “มะนาว” สำหรับเรียกรถแท็กซี่ของทางค่ายเอาไว้แล้วเรียบร้อย

“เราไม่ได้อยู่ในจุดที่ชื่นชมกับอดีต อย่ามองไปเมื่อสิบปีก่อนว่าทำแบบเดิม ๆ แล้วจะอยู่ได้ เราต้องคิดด้วยว่า อีกสิบปีข้างหน้า เราต้องทำอย่างไรให้เราอยู่รอด อยากให้มองว่าการเข้ามาใหม่คือการแข่งขัน ถ้าตลาดมีการแข่งขัน คนได้ประโยชน์คือผู้บริโภค ส่วนคนที่จะเดือดร้อนคือคนที่ไม่ปรับตัว ผมมีการสื่อสารกับคนขับแท็กซี่บ่อย ๆ ว่าเราควรจะเปิดรับเทคโนโลยี เพราะผู้โดยสารก็คือผู้โดยสาร อยู่ที่ว่าเขาจะเรียกเราจากช่องทางไหน การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันไม่ใช่ตัวที่ทำให้คนขับแย่ลง ตรงข้าม แอปพลิเคชันทำให้ตลาดโตขึ้น และมีลูกค้ามากขึ้นด้วย”

Avatar photo