Economics

‘สถานีกลางบางซื่อ’เหลืออะไรก่อนเปิดบริการม.ค.64

หลังจากใช้เวลาก่อสร้างมาเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ตอนนี้ “โครงการสถานีกลางบางซื่อ” Grand Station แห่งใหม่ของประเทศไทย ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าราว 60-70%

thumbnail สถานีกลางบางซื่อ3

งานก่อสร้างที่เหลือส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างทางวิ่ง , โครงสร้างหลังคาเหล็กบนชั้น 3 , งานติดตั้งระบบอาคาร เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงงานสถาปัตยกรรม

ความท้าทายของโครงการนี้อยู่ที่การวางระบบราง เพราะพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของสถานีมีชานชาลารวมกันถึง 24 ชานชาลา ส่งผลให้การวางโครงสร้างระบบรางมีความซับซ้อนสูง

การก่อสร้างยังเจอปัญหาเฉพาะหน้าอีกสารพัด ทั้งเรื่องการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรื้อย้ายท่อน้ำมัน ท่อก๊าซฯ หรือระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม รวมถึงต้องก่อสร้างสถานีแห่งใหม่ไปด้วยและเปิดให้บริการสถานีรถไฟบางซื่อในปัจจุบันพร้อมกันไปด้วย

การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจึงนับเป็น “มหากาพย์” อีกบทหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนไทย ที่ต้องมีการเพิ่มวงเงินและขยายเวลาก่อสร้างกันหลายครั้ง

ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขอเพิ่มวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงอีกครั้ง ในเดือนธันวาคม 2561 จากปัจจุบันกำหนดวงเงินไว้ที่ 34,000 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากแผน “แต่คาดว่าการขอเงินก้อนนี้ น่าจะเป็นก้อนสุดท้าย และการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อจะเสร็จตามกำหนด”

S 9994251

เปิดให้บริการเดือน ม.ค. 2564

ตามไทม์ไลน์ สถานีกลางบางซื่อจะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ในเดือนพฤศจิกายน 2562 แต่ต้องรอให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน แล้วเสร็จทั้งหมดก่อน จึงเปิดให้บริการได้พร้อมกันในเดือนมกราคม 2564

Grand Station แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบรางแห่งใหม่ของประเทศไทย รองรับตั้งแต่ระบบรางในท้องถิ่น เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รวมถึงระบบรางระยะไกลอย่าง  รถไฟเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ จนถึง“รถไฟความเร็วสูง” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

สถานีกลางบางซื่อถูกออกแบบให้มีทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่

ชั้นใต้ดิน พื้นที่จอดรถประมาณ 1,700 คัน

ชั้นที่ 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า รวมถึงสามารถเดินเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

ชั้นที่ 2 ชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลอีก 8 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

ชั้นที่ 3 ชานชาลารองรับรถไฟที่มีขนาดราง 1.435 เมตร ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายต่างๆ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รวมทั้งหมด 12 ชานชาลา

S 9994252

“สถานีกลางบางซื่อมีลิฟท์ บันไดเลื่อน และห้องน้ำจำนวนมาก เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกตามปกติ แต่เรายังไม่มีประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติ (Platform screen doors) เพราะไม่ได้บรรจุไว้ในแผนตั้งแต่แรก จึงต้องมาดูกันว่าจะทำยังไง โดยตอนนี้มองว่าราวกั้นสแตนเลส น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงใช้คนขับ ไม่ใช่เดินรถอัตโนมัติแบบ BTS หรือ MRT รถจึงไม่ได้จอดแบบตรงประตูเป๊ะ การใช้ราวกั้นสแตนเลส จึงเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากกว่า” แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าว

 นอกจากนี้ การรถไฟฯ ต้องเตรียมพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณชั้น 1 ให้พร้อมรองรับผู้โดยสาร  ตอนนี้ก็ต้องรอนโยบายจากการรถไฟฯ ว่าจะให้บริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ เข้ามาดำเนินการ หรือจะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารด้วยวิธีใด

“หัวลำโพง”ค่อยๆ ลดบทบาท

สำหรับ“สถานีหัวลำโพง” ซึ่งทำหน้าที่ Grand Station ของประเทศไทยมากกว่า 100 ปี ก็คงต้องลดบทบาทลง กลายเป็นเพียง 1 ในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมถึงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของการรถไฟฯ

แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเดินรถ ส่วนจะปิดฉากสถานีหัวลำโพง ในฐานะ Grand Station ได้ทั้งหมดเมื่อไหร่ ก็ยังตอบไม่ได้ชัดเจน อาจจะเป็น 6 เดือนหรือ 2 ปี ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและการดำเนินโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

thumbnail สถานีกลางบางซื่อ9

“การเปิดสถานีกลางบางซื่อ และปิดหัวลำโพง มันไม่ใช่เวลาเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดมันต้องเหลือสถานีเดียว ถามว่าเมื่อไหร่ก็ต้องรอให้ฝ่ายปฏิบัติการเขาคุยกัน เพราะว่าการย้ายรถขบวนอื่นเข้ามาในสถานีกลางบางซื่อ ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการเดินรถของสายสีแดงในปี 2564 คาดว่าผู้เกี่ยวข้องคุยกันสัก 1 ปี คงจะรู้เรื่องกันทั้งหมดว่าจะดำเนินการอย่างไร ” วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าว

นับถอยหลังจากตอนนี้ ก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่า คนไทยก็ได้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ได้กำหนดแนวคิดการพัฒนา นั่นคือ “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรางทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง

 อีกมุมหนึ่ง การรถไฟฯ ยังต้องทำงานอีกมากมาย เพื่อเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อให้ได้ตามเป้าหมายในอีก 2 ปีข้างหน้า โครงการนี้ยังถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือของการรถไฟฯ ต่อสังคมว่า เมื่อได้รับโอกาสและงบประมาณมหาศาลแล้ว การรถไฟฯ จะแสดงฝีมือ ผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้แค่ไหน

Avatar photo