Digital Economy

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แนะ ‘เสพสื่อใช้สติชัวร์ก่อนแชร์’

รู้หรือไม่ว่า… การแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง คลิป และสื่อวิดีโอ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันและควบคุมการกระทำผิด ที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์ หากใครกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์นี้ ก็จะต้องได้รับการลงโทษตามที่กำหนดไว้

จริงหรือมั่ว 2

เพราะโลกยุคปัจจุบัน ที่มีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้น จึงสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว ผ่าน Facebook, Instagram, Twitter, Line และช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย

โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต และมีอิทธิพลในการใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลทุกอย่างอัพเดทได้เร็วมาก จนบางครั้งก็ขาดการคัดกรอง บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ก็ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่ผู้แชร์ข้อมูลอ่านเพียงหัวข้อหรือเห็นแค่รูปภาพ โดยไม่อ่านเนื้อหาภายในด้วยซ้ำ จนเกิดผลกระทบกับทั้งผู้แชร์และผู้ถูกแชร์ข้อมูล

จริงหรือมั่ว 3

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่เรากำลังเสพและเห็นอยู่นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะผู้จัดโครงการ “Healthy Digital Family เสพสื่อ ใช้สติ มีสไตล์ ให้สตรอง” ได้แนะนำวิธีการตรวจสอบข้อมูลในโลกดิจิทัลแบบง่ายๆ เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทย ให้รู้เท่าทันการใช้สื่อดิจิทัลในสังคมปัจจุบัน

พร้อมร่วมปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 ได้อย่างเข้มแข็ง

วิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกแยะเนื้อหา
วิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกแยะเนื้อหา

ชัวร์หรือมั่วดูกันอย่างไร

  • แหล่งที่มาของข้อมูลต้องชัดเจน เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบที่มาของข้อมูลได้
  • สังเกตที่อยู่เว็บไซต์ สังกัด หน่วยงาน และชื่อผู้โพสต์ทุกครั้ง ว่าถูกต้องหรือไม่ ในกรณีที่เป็นเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ให้ดูว่าเพจนั้นได้รับการอนุมัติให้เป็นเพจทางการหรือไม่ (บลูเบดจ์)
  • สังเกตพาดหัวข่าว / พาดหัวบทความ หากมีลักษณะเกินจริง บิดเบือนข้อมูล ให้สันนิษฐานว่าเป็นข่าวปลอม ข้อมูลปลอม
  • ใช้สติในการเสพข้อมูล อย่างระมัดระวัง รู้จัก คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ
  • ระมัดระวังการโพสต์ แชร์ ความคิดเห็น ที่พาดพิงถึงบุคลลอื่นในทางเสียหาย (Cyber Bullying)
  • คิดทุกครั้งก่อนแชร์ข้อมูล หรือทำธุรกรรมออนไลน์ อย่าใช้แค่ความไว เพราะอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
  • ไม่ส่งต่อข้อมูลที่ล่อแหลม หรืออาจก่อให้เกิดความแตกแยก และเป็นปัญหาในสังคม
  • หากไม่แน่ใจอย่าแชร์ข้อมูลเด็ดขาด เพราะอาจเป็นการช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ต้องถูกต้อง บิดเบือน
  • อย่าหลงเชื่อข้อมูล โฆษณา ที่กล่าวอ้างเกินจริง
  • พึงระลึกไว้ว่าทุกโพสต์ ทุกแชร์ ทุกคอมเมนต์ ที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ สามารถย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้ และอาจทำให้ต้องรับโทษได้ตามกฎหมาย
  • แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล

ไม่ใช่แต่โลกโซเชียลในประเทศไทยเท่านั้น ที่ประสบภาวะข่าวปลอม แชร์กันมั่วไม่ชัวร์ก็แชร์ แต่เกือบทุกประเทศในโลกที่สื่อออนไลน์กระจายได้ทั่วถึง ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน

ดังนั้นหากทุกคนมีสติ เข้าใจ และรู้เท่าทัน จะทำให้การใช้งานสื่อดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์ หากไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่เราแชร์ไปนั้น จะเกิดประโยชน์หรือผลเสียต่อผู้อื่น ก็ไม่ต้องแชร์!

Avatar photo