COLUMNISTS

‘แจกเงิน’ แก้ปัญหาได้จริงหรือ

Avatar photo
977

รัฐบาลคสช.เพิ่งออกมติเทงบประมาณแจกผู้มีรายได้น้อย 3.8 หมื่นล้านบาท ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจกชาวสวนยางพารา 1.86 หมื่นล้านบาท รวมใช้เงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ขาดความยั่งยืน ทั้งๆ ที่รัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่านี้ ถ้ารู้จักใช้ปัญญามากกว่าที่เป็นอยู่

111

เริ่มจากการแจกเงินคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในหลากหลายออปชั่น 4 มาตรการ ประสารัฐบาลสายเปย์ คือ

1. การบรรเทาภาระค่าน้ำ 100บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าไฟ 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ตั้งแต่ ธันวาคม 2561- กันยายน 2562 ซึ่งในส่วนนี้เป็นวงเงินที่ถอนไม่ได้

2. สนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 500 บาท/คน ในเดือนธันวาคม 2561

3. ค่าเดินทางรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) 1,000 บาท/คน

4. ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/คน/ เดือน ให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ ธันวาคม 2561- กันยายน 2562 โดยทั้ง 3 ส่วนนี้สามารถเบิกถอนได้

การช่วยเหลือคนจนเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลต้องพึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่า เมื่อเริ่มแจกแล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะยกเลิก เพราะคนที่เคยได้ก็จะเสพติดกับการรับ ซึ่งจะกลายเป็นภาระด้านงบประมาณในระยะยาว ผลที่ได้กลับมาก็ไม่มีส่วนใดที่จะช่วยยกระดับรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตที่แท้จริงกับคนกลุ่มนี้ นอกจากรอของแจกจากรัฐบาลเท่านั้น

ส่วนเรื่องปัญหายางพาราตกต่ำต้องบอกว่าพูดจนปากจะฉีกถึงหูแล้วว่า รัฐบาลควรแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. ผลผลิตล้นตลาด เกิดจากใครต้องย้อนไปถึงนโยบายกล้ายาง 1 ล้านไร่ ในยุคทักษิณซึ่งมี เนวิน ชิดชอบ เป็นผู้ขับเคลื่อน
  2. ส่งออกเป็นส่วนใหญ่ยังเป็นรูปยางดิบ ไม่มีการแปรรูป
  3. .พึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป
  4. คนทำยางแผ่นดิบกันน้อย แห่ไปทำยางถ้วย ซึ่งไม่สามารถเก็บได้ ต้องขายทันที แตกต่างจากสมัยก่อนที่ทำยางแผ่น ถ้าราคาไม่ดีก็เก็บไว้ก่อนรอราคาขยับแล้วค่อยขาย

ทางแก้ที่ตรงจุดจึงควรจำกัดพื้นที่การปลูกยางพารา ด้วยการสนับสนุนการโค่นต้นยางพารา โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า ในแต่ละห้วงเวลาจะโค่นต้นยางพาราจำนวนเท่าใด เช่น ปี 2562 โค่น 1 ล้านไร่ ให้เงินเพิ่มไร่ละ 10,000 บาท รวมใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว เนื่องจากมีเงินกองทุนที่การยางแห่งประเทศไทยเก็บเกษตรกรไปอยู่แล้ว รวมถึงการสนับสนุนการแปรรูปยางพาราอย่างจริงจัง และมีมาตรการชัดเจนให้หน่วยงานรัฐใช้

เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือกำจัดสต็อกยางพาราที่กดตลาดอยู่ 100,000 ตัน ซึ่งมีนโยบายมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่กลับมีการนำไปใช้จริงเพียงแค่ 1,129 ตันเท่านั้น หากรัฐบาลเดินหน้ามากำหนดนโยบายให้ชัดว่า มีโครงการใดที่จะใช้ยางพาราในสัดส่วนเท่าไหร่ สต็อก 100,000 ตันจะหมดภายในกรอบเวลาใด จะทำให้กลไกตลาดดันราคายางพาราพุ่งสูงขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ทำให้ราคายางพาราเข้าสู่เสถียรภาพได้ในกรอบ 60-70 บาท ตามที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าไว้ ชาวสวนยางพาราก็ไม่ต้องทนทุกข์อยู่กับราคายางพาราที่เหลือแค่ 3 โลร้อยเหมือนทุกวันนี้

ข้อเสนอข้างต้นเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนกว่าการเทงบ 3.8 หมื่นล้านบาทมาแจกชาวสวนยาง เพราะเป็นการผลักดันไปที่กลไกตลาดโดยตรง มีผลต่อการยกระดับราคายางพารา ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางพาราจะได้ประโยชน์ถ้วนหน้า

แตกต่างจากการแจกเงินแบบเบี้ยหัวแตก ซึ่งฝนตกไม่ทั่วฟ้า เนื่องจากคนที่ได้จะมีเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกยท.ซึ่งมีเพียง 1.3 ล้านรายเท่านั้น แต่เกษตรกรอีก 7 ล้านราย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำเช่นเดียวกันหมดสิทธิที่จะได้รับเงินบรรเทาความเดือดร้อนนี้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิและไม่ได้ลงทะเบียนกับ กยท.

รัฐบาลควรคิดที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้มั่นคงจะได้ไม่เป็น “คนจน” ดีกว่าปล่อยให้เขา “จน” แล้วมาแจกเงิน