COLUMNISTS

“พรรคทหาร” หนุน หรือ ถ่วงปฏิรูปการเมือง

Avatar photo
13

ย้อนไปปลายปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ปฏิเสธเสียงแข็งเกี่ยวกับการตั้งพรรคทหาร หลังถูกนักข่าวซักไซ้เมื่อวันที่ 19 พ
ฤศจิกายน 2560

“พรรคทหารคืออะไรผมไม่รู้ หลายคนบอกเป็นพรรคแบบเดิมอะไรต่างๆ โดยมีทหาร แต่ผมยังไม่เห็นมีทหารที่ไหนมาตั้งพรรคการเมืองกับผม ถ้าเขาไปตั้งของเขาเองก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาไม่เกี่ยวกับผม ฉะนั้น คงไม่มีใครไปตั้งพรรคทหาร ก็รู้อยู่ว่าตั้งมาแล้วก็คือปัญหา มันไม่เคยสำเร็จสักที จะไปตั้งให้มันเมื่อยทำไม ทุกคนพยายามสร้างกระแสให้ได้ว่าจะมีพรรคทหารให้คนรังเกียจ..”

จากนั้นไม่ถึงสองเดือนในวันที่ 3 มกราคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปิดศักราชปีใหม่ ด้วยการประกาศตัวยอมรับเป็นครั้งแรกว่า เป็นนักการเมือง หลังจากยืนกราน และแสดงท่าทีรังเกียจคำว่า “นักการเมือง” มาโดยตลอด

ล่าสุดก็ออกมายอมรับว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำลังหารือกันตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

pim1
ภาพ: บีบีซีไทย

ขณะที่กติกาที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ล้วนแต่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมไปจนถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ให้รีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการบั่นทอน และทำลายฐานการเมืองของพรรคเก่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

อีกทั้งยังไม่ยอมปลดล็อคให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมาย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้อำนาจเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง เป็นการมัดแขนมัดขาพรรคเก่า รอเวลาให้พรรคของตัวเองมีความพร้อม

แน่นอนว่าไม่ใช่แนวทางการปฏิรูปการเมือง แต่เป็นเกมการเมืองที่ใช้อำนาจมาต่อยอดอำนาจ ไม่แตกต่างจากเผด็จการทหารในอดีต

เส้นทางการรัฐประหาร 13 ครั้งในประเทศไทย มีการตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนทหารที่ทำการรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจต่อมาโดยตลอด แต่กงล้อประวัติศาสตร์ก็บอกกับเราว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่เคยประสบความสำเร็จ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ก็ทราบดี ดังจะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า “คงไม่มีใครไปตั้งพรรคทหาร ก็รู้อยู่ว่าตั้งมาแล้วก็คือปัญหา มันไม่เคยสำเร็จสักที จะไปตั้งให้มันเมื่อยทำไม ทุกคนพยายามสร้างกระแสให้ได้ว่าจะมีพรรคทหารให้คนรังเกียจ..”

ในขณะที่พรรคการเมืองเก่ากำลังเดินขาขวิดเข้าหาประชาชนเพื่อรักษาสมาชิกพรรค ผู้มีอำนาจในปัจจุบันกลับใช้ทำเนียบรัฐบาลตั้งพรรคการเมือง โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดห้องให้อดีตสส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าหารือ พร้อมปฏิเสธว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง

แต่หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว ก็มีการแต่งตั้งนายสกลธี ภัททิยกุล หนึ่งในอดีตสส.ที่เข้าพบนายสมคิด เป็นรองผู้ว่ากทม. ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมายอมรับว่า มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลทาบทามประสานไปที่พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.

จึงเกิดคำถามตัวโต ๆ ว่า คสช.กำลังใช้ตำแหน่งที่กินเงินหลวงไปต่อรองทางการเมือง เพื่อสร้างฐานอำนาจให้กับตัวเองใช่หรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่ตำแหน่งรองผู้ว่ากทม.เท่านั้น แต่ข่าวที่กระเซ็นกระสายออกมายังรวมไปถึงตำแหน่งเลขาฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย โดยมีการคำนวณตัวเลขของกลุ่มพันธมิตรที่ยินดีหนุนทหารให้กลับมามีอำนาจอีกรอบเมื่อจับมือเป็นรัฐบาลกันไว้เรียบร้อยแล้ว

pim2
ภาพ: บีบีซีไทย

ความจริงการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นสัญญาใจ เชื่อมกับพรรคการเมืองนั้นถูกจับตามองมา ตั้งแต่ตอนที่นายกรัฐมนตรีตั้งนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรมว.ท่องเที่ยวฯสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา คัมแบ็คกลับมาเป็นเจ้ากระทรวงเดิมแล้ว แต่ดูเหมือนว่าในขณะนี้การใช้ตำแหน่งที่กินเงินหลวงมาต่อรองทางการเมืองกำลังทวีความเข้มข้นและจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น หลังจากที่ผู้มีอำนาจเลิกเหนียมปูทางกลับสู่อำนาจแบบเต็มสูบ

ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ประชาชนได้เห็นทิศทางการเมืองที่ชัดเจนของคสช. แทนที่จะเดินเกมใต้โต๊ะแต่หน้าฉากออกมาปฏิเสธเหมือนที่ผ่านมา และจะได้ชั่งน้ำหนักได้ว่าแนวทางที่ คสช.กำลังกำหนดให้ประเทศไทย เป็นเส้นทางสู่การปฏิรูปหรือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และวิธีการที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้แตกต่างไปจากพฤติกรรมของนักการเมืองเลวที่คสช.เคยก่นด่าหรือไม่

ธรรมาภิบาล ความดี ที่พร่ำพูดตลอดมา จะมีความหมายและทรงคุณค่า ก็ต่อเมื่อผู้พูดนำไปปฏิบัติจริง แต่ธรรมาภิบาล ความดี จากปากของผู้นำที่พูดอย่าง ทำอย่าง คือจุดเริ่มต้นของการทำลายความดีที่กำลังนำไปสู่การทำลายตัวเอง เพราะ “สนิมล้วนเกิดจากเนื้อในตน”