Finance

‘ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์’ คาด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยภายใน ก.พ. 62

“ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์” คาด “กนง.” จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ภายในรอบการประชุมเดือน ธ.ค. หรือ ก.พ. นี้ หลังล่าสุดเสียงแตกคงดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุ EIC ประเมินว่าโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ภายในการประชุมเดือน ธันวาคม 2561 หรือ กุมภาพันธ์ 2562 มีสูงขึ้นพอสมควร เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยต้องการเสียงกรรมการ กนง.เพิ่มอีกเพียงหนึ่งคนเท่านั้น

ไทยพาณิชย์ EIC

ที่สำคัญโทนของการสื่อสารของ กนง.ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการสื่อสารในช่วง 1-2 ครั้งหลังที่มองว่าความจำเป็นของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องแม้จะมีความเสี่ยงด้านต่ำ เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ และความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนธันวาคม 2561 และการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยังคงใกล้เคียงกัน โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองและเป็นตัวกำหนดความเร็วช้าของการขึ้นดอกเบี้ย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกมาในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีสัญญาณชะลอตัวลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หากตัวเลขออกมาใกล้เคียงกับที่คาดและไม่น่าจะกระทบต่อโมเมนตัมของการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก และเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ก็เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ กนง. เสียงส่วนใหญ่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคม แต่หากตัวเลขการส่งออกหรือการท่องเที่ยวออกมาต่ำกว่าคาดมากจนกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้ กนง. ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรอประเมินแนวโน้มอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป

ธปท. แบงก์ชาติ

EIC มองว่าวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สูงขึ้น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่สูง จะทำให้ กนง. ระมัดระวังในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกระทบต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ NPL ในภาคครัวเรือนและ SMEs ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนั้น EIC ประเมินว่า ธปท.จะไม่ใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน แต่จะผสมผสานการใช้มาตรการ Macroprudential ควบคู่ไปด้วย ตามตัวอย่างมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่งออกมา ซึ่งจะทำให้ กนง. สามารถปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% และจะพักการขึ้นเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

Avatar photo