Politics

‘หมอธีระ’ หวั่นโควิดระลอกใหม่ แค่ 3 สัปดาห์ติดแล้ว 17,780 คน

“หมอธีระ” หวั่นโควิดระลอก 3 ชี้แค่ 3 สัปดาห์ติดเชื้อใหม่แล้ว 17,780 คน ยอดติดเชื้อสะสมจ่อทะลุ 50,000 คน ลั่นโควิดติดไม่ใช่แค่คุณ!!

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า 21 เมษายน 2564 ตอนนี้เรากำลังมียอดติดเชื้อรวมมุ่งสู่ 50,000 คน สำหรับระลอกสาม เพียงสามสัปดาห์ เรามีการติดเชื้อใหม่ไปแล้ว 17,780 คน

เป็นที่ทราบกันว่า ติดเชื้อใหม่นี้ ดูมีเคสที่มีปริมาณไวรัสมากอยู่เยอะ กว่าระลอกก่อน ๆ ทำให้ง่ายต่อการแพร่เชื้อ และระลอกนี้มีแนวโน้ม ที่เห็นคนติดเชื้อ อาการรุนแรงกันเยอะมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น ดังที่เคยวิเคราะห์กันมาแล้วว่า น่าจะมีส่วนมาจากการระบาดของสายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7

หมอธีระ

อย่างไรก็ตาม ไทยเราควรต้องคิดวางแผน รับมือกับอีกเรื่องสำคัญ ที่ต่างประเทศล้วนเผชิญอยู่ ในขณะนี้คือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงค้าง หลังจากได้รับการดูแลรักษา และออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ซึ่งพบว่ามีราว 30 – 40%

ภาวะนี้เรียกว่า Long COVID หรือ Chronic COVID หรือล่าสุด มีคนเรียกอีกชื่อว่า Post-acute COVID Syndrome ผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่อ่อนเพลียอ่อนล้า รู้สึกคุณภาพชีวิตลดลง กว่าก่อนที่จะไม่สบาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อ เหนื่อยหอบ ไอ จำเป็นต้องได้รับ ออกซิเจนเสริมอย่างต่อเนื่อง เครียด ซึมเศร้า มีปัญหาด้านการนอนหลับ มีปัญหาเรื่องความจำ ปวดหัว ใจสั่น เจ็บหน้าอก ผมร่วง ลิ่มเลือดอุดตันตามที่ต่าง ๆ รวมถึงโรคไตเรื้อรัง

หลายประเทศ มีการจัดตั้งคลินิกโควิด-19 เพื่อรองรับบริการ ดูแลผู้ป่วยภาวะนี้ในระยะยาว ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน ไปจนถึงเป็นปี โดยจากอาการ หรืออาการแสดงเรื้อรัง ดังที่กล่าวมาข้างต้น การจัดระบบบริการดูแล มักจำเป็นต้องมีการทำงานประสานกัน ระหว่างสหสาขาวิชาชีพ และแพทย์หลากหลายแขนง ตั้งแต่แพทย์ทั่วไป ไปจนถึงแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หมอธีระ

ที่เล่าแลกเปลี่ยนมานี้ เพราะประเทศที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก ก็ย่อมมีโอกาสพบผู้ป่วย Long COVID นี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และหากไม่มีระบบบริการ ดูแลรักษาที่รองรับได้เพียงพอ ก็จะเกิดปัญหา หรือผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง และระบบสุขภาพของประเทศในอนาคต

สำหรับประชาชน พอเราทราบเช่นนี้ ก็ย่อมตระหนักถึงความสำคัญ ของการป้องกันตัวเอง และสมาชิกในครอบครัวอย่างเต็มที่ ไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุดครับ

โควิด…ติด…ไม่ใช่แค่คุณ

ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง Nalbandian A et al. Post-acute COVID-19 syndrome. Nature Medicine. 22 March 2021

นพ.ธีระ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า สำหรับสถานการณ์ของไทยเราตอนนี้ ยังระบาดต่อเนื่อง น่าเป็นห่วงมาก เพราะพื้นที่เขตเมือง ยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่พอสมควร ทั้งขนส่งสาธารณะ รวมถึงสถานประกอบกิจการต่าง ๆ สถิติการติดเชื้อ ทั้งจากสถานที่ทำงาน และสมาชิกในครอบครัว ดูจะมากขึ้นเรื่อย ๆ

ขอให้ระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ทั้งในที่ทำงาน ห้าง ร้านอาหาร โรงแรม / ที่พัก / ที่ประชุม และขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ รถตู้ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ

ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

ล้างมือบ่อย ๆ พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้ใช้

ระวังเรื่องสุขาสาธารณะ ปิดฝาก่อนกดชักโครก อย่าลืมล้างมือ ใส่หน้ากากขณะใช้

เลี่ยงการกินดื่มในร้านหรือโรงอาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า

เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดงาน แล้วรีบไปตรวจรักษา

ประเทศไทยต้องทำได้ หากเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK