COLUMNISTS

ครึ่งศตวรรษ โลกเปลี่ยนขั้ว มนุษย์เรียนรู้อะไรบ้าง!!

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
338

สวัสดีครับ ผมเพิ่งเขียนเรื่องนี้ให้กับ TRIS Magazine แล้วชอบเป็นการส่วนตัวเพราะสนใจเรื่องท่องอวกาศตั้งแต่เด็กๆ เลยหยิบมาเล่าและเขียนต่อตรงนี้เพิ่ม

เริ่มจากว่าครั้งนี้จะพาย้อนเวลากลับไปดูหน้าประวัติศาสตร์เพื่อชวนคิดกันว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง เรามาไกลกันขนาดไหนแล้วในเวลา 50 ปี หรือ ครึ่งศตวรรษ? เชื่อหรือไม่ว่าปีหน้าก็จะครบ 50 ปีแล้วที่มนุษย์เราได้ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ตามภารกิจของโครงการอพอลโล 11! ตัวเลข 50 ปีก็ฟังดูนานอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดว่าครึ่งศตวรรษล่ะครับ อันไหนฟังดูนานและน่ากลัวกว่ากัน?

nasa4
ภาพจาก NASA

ไม่ว่าจะพูดว่า 50 ปี หรือ ครึ่งศตวรรษ ก็ตามสำหรับผมแล้วฟังดูน่ากลัวมาก เพราะมันทำให้ฉุกคิดว่าความรู้ความสามารถ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยนั้นเมื่อฟังดูตอนนี้ยังน่าทึ่งขนาดไหน เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของโลกใบนี้ ก่อนอื่นเลยเราคงนึกได้เลยว่าสมัยนั้นคำว่า “นวัตกรรม หรือ Innovation” ในภาษาอังกฤษยังใช้ไม่แพร่หลายเลย มีการศึกษาว่าก่อนนั้นจะใช้คำ “สิ่งประดิษฐ์ หรือ Invention” กันมากกว่า คำ “นวัตกรรม” ในภาษาอังกฤษเริ่มใช้แพร่หลายมากกว่าคำ “สิ่งประดิษฐ์”

จริงๆ ราวช่วงหลังปี 2000 แล้ว หรือ กว่า 30 ปีหลังมนุษย์เราได้ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก! เมื่อ 50 ที่ปีแล้วชุดมนุษย์อวกาศของนีล อาร์มสตรองที่ใส่เหยียบดวงจันทร์เป็นใยผ้าผสมแก้วที่ถูกเคลือบด้วยสารเทฟรอนอีกชั้นหนึ่ง ทำให้มีคุณสมบัติเหมือนผ้าแต่แข็งแกร่งทนทานเหมือนเสื้อเกราะของอัศวิน เหตุผลเพราะอะไร? เพราะนาซ่าต้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่ออาจมีสะเก็ดอุกกาบาตเล็กๆ ที่จะปลิวมาโดนนักบินอวกาศแล้วทำให้ชุดฉีกขาดได้

nasa2
ภาพจาก NASA

ซึ่งหมายถึง หายนะ และ จุดจบของนักบินอวกาศ เลยเป็นที่มาของการประดิษฐ์หรือนวัตกรรมของชุดที่ต้องมีคุณสมบัติเหมือนผ้าแต่แข็งแกร่งเหมือนเสื้อเกราะ สังเกตเห็นนะครับว่านวัตกรรมนั้นมักจะทำให้ของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามหรืออยู่ด้วยกันไม่ได้มาอยู่ด้วยกันได้ ยังมีถุงมือที่ต่อติดกับชุดที่ปรับความดัน (Pressurized) แล้วทำไงให้นักบินอวกาศยังสามารถจับต้อง ถือ บังคับปุ่มต่างๆ บนดวงจันทร์ได้ เพราะถ้าให้ดีแล้วนิ้วคนเราต้องการความรู้สึกสัมผัสในการจับต้อง ถือ บังคับปุ่มต่างๆ? ไม่ใช่เฉพาะสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมเท่านั้น

การบริหารความเสี่ยง การวางแผนสอง แผนสาม หรือ แผนกี่ชั้นก็ตามสำหรับเหตุที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่เรานึกถึงและที่เรานึกไม่ถึงก็น่าทึ่งและศึกษา เช่น สุดท้ายเลยเพื่อประโยชน์มหาศาลทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อยากได้คือตัวอย่างของหินหรือดินจากดวงจันทร์ ดังนั้นจึงวางแผน … และเป็นที่มาของการออกแบบ …กระเป๋าข้างขาของชุดเหยียบดวงจันทร์ข้างขาซ้ายของนีล อาร์มสตรองให้เอาไว้เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรก็ตามต้องรีบไปแล้ว อยู่ไม่ได้แล้ว แทนที่จะเก็บตัวอย่างตามที่วางแผนไว้ก็ให้นีล อาร์มสตรองมีภารกิจแรกที่ต้องทำเลยคือใช้มือโกย หยิบเอาหินหรือดินจากดวงจันทร์ ใส่ในกระเป๋าข้างนั้นเลยแล้วจึงรีบโกยแบบรีบเผ่นไปได้เลย เป็นต้น

nasa1
ภาพจาก NASA

ทั้งหมดนี้น่าสนใจ น่าศึกษามาก ไม่ใช่เพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เพราะการเกิดของนวัตกรรม การคิดวางแผน การบริหารความเสี่ยง ฯลฯ ที่เราสามารถนำมาประยุกต์กับการทำงาน การต่อสู้ในโลกของการแข่งขัน กับ ความไม่แน่นอนในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี ผ่านมา 50 ปี หรือ ครึ่งศตวรรษ จนปี 2018 นี้ ใครจะคิดว่าการให้มนุษย์บินไปดวงจันทร์กลายเป็นหนึ่งในภารกิจของเอกชนที่ผลิตรถยนต์ขายแล้วก็มีความคิดว่าน่าจะสร้างจรวดให้คนเดินทางไปดวงจันทร์เหมือนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ! ใครจะคิดว่าการให้โลกทั้งโลกเฝ้าจับตาดูจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ได้นั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปนอกโลกเหมือนโครงการอพอลโล 11 แล้ว ฝ่ามือของทุกคนก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าถึงโลกทั้งโลก

วันก่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยแถวหน้าของรัฐแห่งหนึ่งเพิ่งพูดให้ฟังแล้วทำให้ผมคิด เพราะอาจารย์เล่าให้ฟังว่ามหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับอะไรอยู่บ้างนอกจากรูปห้องเรียนที่ไม่มีคนเรียนที่อาจารย์เอามาให้ดู หนึ่งในสิ่งที่อาจารย์พูดคือ แค่คุณเป็นเน็ตไอดอลแล้วโพสต์อะไรพร้อมกับสินค้า 1 ครั้ง คุณสามารถหาเงินได้เท่ากับเงินเดือนเด็กวิศวกรจบใหม่หรือ ที่จบแล้วมีประสบการณ์ 2-3 ปีสบายๆ สิ่งที่นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ (ดิจิทัล?) เรียนในหลักสูตร 4 ปี เมื่อเขาจบก็ล้าสมัยไปทันทีเพราะความที่เทคโนโลยีด้านนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยของอาจารย์ทำก็คือการสร้างห้องเรียนที่ไม่ใช่ห้องเรียนหรือห้องแล็ปธรรมดาแต่เป็นห้องในแบบอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับภาคเอกชนเหมือนทำงานจริง เพราะเอกชนก็เห็นปัญหานี้ว่านี่คือกลุ่มคนที่เขาจะต้องรับไปทำงานต่อ หรือต้องไปฝึกต่อเพราะเรียนมาไม่ตรงหรือเรียนสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว เป็นต้น

กลับไปที่หัวเรื่อง 50 ปี หรือ ครึ่งศตวรรษ ครับว่าสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้ และมนุษย์ก็เผชิญอยู่แล้วมาโดยตลอด คือ ทำให้สองสิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันหรืออยู่ด้วยกันไม่ได้ มาอยู่ด้วยกันได้เกิดเป็น Product Innovation, Service Innovation, Business Model Innovation, Social Innovation, City Innovation, Strategic Planning and Risk Management และอื่นๆ ที่แต่ละท่านจะนึกได้หรือจินตนาการได้