COLUMNISTS

ดอกเบี้ยต่ำสุดในรอบ 9 ปี ทำไมเศรษฐกิจยังเปราะบาง

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
0

 

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลังออกมากล่าววันเดียวกับที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เอกฉันท์ 6: 1 ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5 % เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ว่า กนง.ควรคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน แม้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นแต่ยังมีความเปราะบาง

จากนั้นสัปดาห์ถัดมา ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจชักแถวสนองนโยบาย ออกมาประกาศว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ท่าทีขุนคลังตอกย้ำความต้องการรัฐบาลอีกครั้ง ที่ต้องการให้แบงก์ชาติใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย (ดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อหนุนเศรษฐกิจที่ทำท่าจะทะยานให้ติดลมบน (กนง.ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จาก 3.9 % เป็น 4.1 %)  สวนทางกับมุมมองตลาดก่อนหน้านี้ ที่มีการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มขยับขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้

การตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ให้ขยับ ซึ่งผูกโยงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาด ย่อมมีผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 ประการ หนึ่ง ไม่กระทบต้นทุนผู้ประกอบการ สอง จูงใจให้คนสนใจลงทุนเพิ่มเพราะอัตราผลตอบแทนน่าสนใจ และสาม ไม่เพิ่มภาระให้กับชาวบ้านทั่วไปที่กำลังผ่อนบ้าน หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ

อัตราดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์ (เงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) ปัจจุบันอยู่ที่ 6.03 % นับว่าต่ำสุดในรอบ 9 ปี นับจากปี 2552 (เอ็มแอลอาร์5.85%) โดยอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ช่วงขาลงจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี 2558 ที่แบงก์ชาติยุค ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งต่อเนื่อง จาก 2 % เหลือ 1.5 %  ยืนมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ถึงกระนั้นเศรษฐกิจยังเป็นอย่างที่เห็นคือ ฟื้นตัวแต่ยังเปราะบาง

ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโดในระดับเสถียรภาพหรือขยายตัวเพียงพอให้ทุกๆภาคส่วนได้รับอานิสงส์กันโดยถ้วนหน้า การที่เศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพเช่นนี้ เป็นประเด็นชวนให้ขบคิดต่อว่า มาจากสาเหตุใด เพราะ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังเข้มข้น (ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง) ควบคู่ไปกับนโยบายการเงินผ่อนคลาย (ในนามแบงก์ชาติ) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ต่อเนื่องมาติดต่อกันมาหลายปี

สถานการณ์เช่นนี้ฟันธงได้เลยว่า ปีนี้อัตราดอกเบี้ยในบ้านเราคงไม่ขยับไปไหนหากปัจจัยต่างประเทศไม่รุมเร้าชนิดสุดๆ จริงๆ เพื่อต่อเวลาให้คสช. และรัฐบาลประยุทธ์จัดการเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ก่อนการเลือกตั้งปีหน้าจะมาถึง

ในทางทฤษฎีและค่านิยมทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องของกลไกตลาด แต่ในทางปฏิบัติ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้น จะทรง หรือ จะลง การเมืองมักเข้ามาเกี่ยวพันด้วยไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับการประชุมกนง.ครั้งล่าสุดที่ รัฐมนตรีคลัง ได้ฝากข้อความผ่านสื่อให้ที่ประชุมกนง.รับไว้พิจารณาด้วยว่า กนง.ควรคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 % .