Politics

‘อดีตผู้พิพากษาฯ’ ชี้กกต.ไม่ควรส่ง ปัญหาส.ส.หลุดตำแหน่งคดี ‘กปปส.’ ให้ศาลรัฐธรรมนูญ

“อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา” โพสต์ข้อความ กกต.ไม่ควรส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปัญหาส.ส.หลุดตำแหน่งคดี “กปปส.”  ควรใช้ความกล้าหาญ  จัดให้มีการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสงขลา แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน 

นายวัส ติงสมิตร อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “วัส ติงสมิตร” เกี่ยวกับ“ปัญหา สส. หลุดจากตำแหน่งในคดี กปปส.”โดยเนื้อหาระบุว่า

1) หลังจากศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดี กลุ่มกบฏคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นจำเลย 39 คน เสร็จเมื่อเย็นวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 และส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ของจำเลย 8 คน ไปให้ศาลอุทธรณ์สั่งในคืนเดียวกัน และมีการอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ในเช้าวันเสาร์ที่ 26 เดือนเดียวกัน ทำให้จำเลย 8 คนดังกล่าวถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพรวม 2 วัน จึงมีปัญหว่า สมาชิกภาพของ สส. 2 คน ในคดีนี้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่

นายวัส ติงสมิตร

2) ปัญหานี้มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

2.1 ฝ่ายแรกเห็นว่า ยังไม่สิ้นสุดลง โดยให้เหตุผลว่า

(ก) เป็นเพียงกระบวนการควบคุมตัวจำเลยไว้ระหว่างรอคำสั่งของศาลเท่านั้น ซึ่งปกติก็จะมีการควบคุมไว้ที่ชั้นล่างของศาล แต่เนื่องจากในวันนั้นหมดเวลาราชการจึงต้องเปลี่ยนที่ควบคุมไปเป็นเรือนจำ กรณีจึงไม่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส ถ้าถูกจำคุกเพียง 1 ชั่วโมงแล้วต้องขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส. จนนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้รัฐเกิดความเสียหายจากการต้องเสียเงินหลายสิบล้านบาทสำหรับการจัดการเลือกตั้งซ่อม

(ข) จำเลยไม่ได้ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกอันจะทำให้สมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(13)

(ค) รัฐธรรมนูมาตรา 125 วรรคแรกบัญญัติว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ

…..ในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภา ดังนั้นการที่ศาลอาญาออกหมายขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาส่งตัวนายถาวรไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
…..จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ย่อมใช้บังคับไม่ได้ จึงต้องถือว่าไม่มีการออกหมายขังนายถาวร และนายถาวรไม่ได้ถูกคุมขังโดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6)
…..ดังนั้นสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายถาวรจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6)ประกอบมาตรา 98(6)
…..กล่าวโดยสรุปคือนายถาวร เสนเนียม ยังมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา

637603

2.2 ฝ่ายหลังเห็นว่า สิ้นสุดลงแล้ว โดยให้เหตุผลว่า

(ก) คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยดังกล่าว โดยไม่รอการลงโทษ ศาลออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา (แบบพิมพ์ 51 ตรี (สีเหลือง)) ดังนั้น แม้จำเลยจะถูกขังหรือจำคุกเพียง 1 วัน ก็เข้าข่ายถูกคุมขังโดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6) สมาชิกภาพ ส.ส.ของจำเลยดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว และศาลมีอำนาจลงโทษจำคุกจำเลยที่เป็น สส. ในระหว่างสมัยประชุม ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 วรรคสี่ ประกอบความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 222ได้

อนึ่ง การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 มีทั้งหมด 13 ข้อ แต่ละข้อย่อมเป็นเอกเทศต่อกัน มาตรา 101(13) เป็นกรณีต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้ไม่ได้ติดคุกจริง เพราะมีการรอการลงโทษ สมาชิกภาพก็ต้องสิ้นสุดลง โดยมีข้อยกเว้นที่ไม่สิ้นสุดลงอยู่ 3 กรณี คือ กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีนี้ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 101(13) แต่เป็นกรณีที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(6)

ส่วนข้อห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัว สส. ในระหว่างสมัยประชุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อห้ามที่จะสอบสวนในฐานะที่ สส. ผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา (แต่เจ้าพนักงานมีอำนาจจับในขณะที่ สส. กระทำความผิด) ไม่ได้ใช้กับการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นกรณีตามวรรคสี่ของมาตรานี้ ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีนั้นในสมัยประชุมได้ในกรณีที่ไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก สส. ผู้นั้น โดยยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็มีอำนาจออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้ ไม่ได้ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

(ข) เทียบเคียงกับคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้องของนายนวัธ เตาะเจริญสุข สส. พรรคเพื่อไทย จึงถือว่าเข้าข่ายถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลแล้ว ดังนั้น สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายนวัธย่อมสิ้นสุดลง

(ค) สอดคล้องกับคำพิพากษาปกครองสูงสุดที่ อ. 2162/2559 ที่วินิจฉัยว่า แม้ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ในวันเดียวกัน แต่ศาลแขวงก็มีคำสั่งให้ส่งคำร้องของผู้ฟ้องคดีไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค

3 พิจารณาสั่ง โดยมิได้มีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวผู้ฟ้องคดี และมีหมายลงวันที่ 18 กันยายน 2555 จำคุกผู้ฟ้องคดีไว้ระหว่างอุทธรณ์ แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ฟ้องคดีชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลแขวงจึงมีหมายลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีก็ตาม

798571

กรณีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 45(4) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แล้ว สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีจึงสิ้นสุดลงตามนัยมาตรา 47 ตรี วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 47 ทวิ (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

แม้จะเป็นการถูกคุมขังเพียง 1 วัน และต่อมาผู้ฟ้องคดีจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีซึ่งสิ้นสุดลง โดยผลของกฎหมายกลับฟื้นคืนมาได้แต่ประการใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีวินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดลง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

3) ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิกภาพของ สส. 2 คน ในคดี กปปส. (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายถาวร เสนเนียม) ได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยเหตุผลตามข้อ 2.2 แล้ว รัฐพึงจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง และประธานสภาผู้แทนราษฎร พึงประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไป ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็น สส. แทนตำแหน่ง สส. แบบบัญชีรายชื่อที่ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105

4) กกต. ควรส่งปัญหา สส. หลุดจากตำแหน่งในคดี กปปส. ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 21 การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของ กกต. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 วรรคสอง คดีนี้ปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ สส. สิ้นสุดลง เพราะเหตุที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลมีคำตอบที่ชัดเจน และตกผลึกแล้ว กกต. จึงควรใช้ความกล้าหาญ ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต เลือกตั้งในจังหวัดสงขลาแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ควรส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

วัส ติงสมิตร
28 กุมภาพันธ์ 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight