Food

‘มรณานุสติ’ โลกยุค 4.0

กินกาแฟไปนั่งมองโลงไป หรือมีโครงกระดูกจำลอง นั่งอยู่บนเก้าอี้ข้างๆ ไม่น่าพิสมัยนัก แต่สำหรับที่นี่ การจัดวางอย่างนี้ คือเป้าหมายใหญ่ให้เหล่าคอกาแฟใช้คาเฟ่เป็นที่  “มรณานุสติ”  ทำให้วัยหนุ่นสาวใกล้ชิดความตายทุก “ขณะจิต”

182573

“Kid Mai Death Cafe”  หรือ “มรณานุสติคาเฟ่”  ตั้งอยู่กลางซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 เป็นอีกจุดหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงในหมู่วัยโจ๋ ตั้งแต่เด็กมัธยมไปจนถึงคนทำงานหนุ่มสาว ย่างก้าวแรกที่หลายคนได้สัมผัสพวกเขากลับชอบมากกว่า “กลัว” แตกต่างจากงานสวดในวัดที่เขาไม่เคยอยากจะไปแวะเวียน

สัญลักษณ์แห่งความตายถูกจัดวางผสมกลับกลืนไปในพื้นที่วางภายในลานกว้างของ “Kid Mai Death Cafe”  พร้อมกับนิทรรศการแห่งความตาย ให้ผู้คนได้เรียนรู้ความตายแบบ Experience

โลงยาววางหน้าร้านให้ผู้คนได้ลงไปสัมผัสพื้นที่เล็กพอดีตัวคนขณะมี  “ลมหายใจ” และสมุดถ่ายทอดความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะต้องอยู่ในนั้นเพียงชั่วนาที รวมถึงบูธให้ทดลองเป็นคนแก่ ใส่ชุดถือไม้เท้าใส่แว่นดำลดการมองเห็น เป็นต้น

อาจารย์ใหม่ หรือ ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา แห่งมูลนิธิบ้านอารีย์  และสถาบันคิดใหม่ ผู้ก่อตั้ง Kid Mai Death Cafe นักคิดนวัตกรรมเชิงสังคมรุ่นใหญ่ เล่าที่มาที่ไปของนวัตกรรมล่าสุดของเขาว่า การทำร้านนี้ไม่ได้ตั้งใจมาขายกาแฟ แต่มาจากความสนใจที่จะค้นหาเครื่องมือทางพุทธศาสนา มาใช้ลดสถิติคอรัปชั่น และคุณแม่วัยใส ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเขาจะ ใช้เวลาในการศึกษาวิจัยมาก่อนเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เขาใช้เวลาร่วม 6-8 เดือน และพบรากของ 2 ปัญหานี้ มาจากความโลภ โกรธ หลง เพียงเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะมีเครื่องมือทางศาสนาพุทธที่มาใช้ได้ดับสองเรื่องนี้ได้

182583
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา

โดยไม่ใช่วิธีการเดิมๆ ที่พูดถึง “นรก หรือสวรรค์” หรือชาตินี้ชาติหน้า ซึ่งจับต้องไม่ได้  เหมาะกับโลกในอดีต แต่ไม่ใช่ยุคดิจิทัลอีกต่อไปที่ผู้คนต้องสู้กับความโลภ ความปรารถนาที่อยู่ตรงหน้าตลอดเวลา จึงต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสม และการศึกษาจึงทำให้เขาไปค้นเจอเครื่องมือทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง นั่นคือ “มรณานุสติ” หรือ “การระลึกถึงความตาย”

ความตายเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่ใครๆก็เถียงไม่ได้  พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนไว้ว่าเมื่อนึกถึงความตายแล้วจะคลายความโลภ และโกรธ  รวมถึงความยึดมั่นถือมั่น และไม่รู้จะทุจริตไปทำไม สถิติอาชญากรรมก็จะลดลงไปด้วย

ขณะเดียวกันเขาก็ได้นำเรื่อง  “ไทยแลนด์ 4.0″  มาวิเคราะห์เพื่อค้นหาความหมายของสังคมยุคนี้ และพบว่าคือ  “สังคมเชิงสัญลักษณ์” 

อาจารย์ใหม่ อธิบายว่า ความเร็วของอินเทอร์เน็ตทำให้คนไม่อดทน ไม่อยากใช้เวลาสื่อสารนาน จึงแสดงออกด้วยสัญลักษณ์แทน เช่น สัญลักษณ์สีเสื้อ เพื่อแสดงออกทางการเมือง กระเป๋าแบรนด์เนม แสดงออกถึงสถานภาพทางสังคม รถหรูแสดงออกถึงความสำเร็จในชีวิต

เมื่อค้นพบอย่างนั้น เขาจึงนำสัญลักษณ์แห่งความตายมาประกอบในนิทรรศการบนลานกว้างในมูลนิธิบ้านอารีย์ให้คนเรียนรู้แบบ Experience และใช้  “วิถีแห่งคาเฟ่” มาเป็นตัวชูโรงดึงดูดคนหนุ่มสาวให้มาเรียนรู้  ซึ่งมาจากงานวิจัยเช่นเดียวกัน

182570

เมื่อวิถีนี้เป็นคำตอบของยุคสมัย หนุ่มสาวมักมาหาแรงบันดาลทางคาเฟ่ หรือขายของออนไลน์ที่คาเฟ่  กลายเป็นที่มาของการผสมระหว่างคำสอนทางพุทธศาสนา คือ “มรณานุสติ” กับ  “วิถีแห่งคาเฟ่” เข้าด้วยกัน  กำเนิดเป็น  “มรณานุสติ คาเฟ่” ราวต้นปีที่ผ่านมา

เขาใช้คาเฟ่เป็น gimmick ดึงให้ผู้คนเข้ามาในสถานที่แห่งการเรียนรู้แบบสร้างประสบการณ์ใหม่ในเรื่องความตาย เช่น ให้ทดลองลงไปในโลงจริง เพื่อให้รู้ว่าสุดท้ายทุกคนต้องนอนในที่แคบๆ เท่าตัว และไม่สามารถนำสิ่งใดติดตัวไปได้เลย

นอกจากนี้ก็มีเรื่องประกอบอื่น ที่ให้คำแนะนำไปพร้อมกัน เช่น การให้ทำพินัยกรรมชีวิต หรือ หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข (Living Will) เพื่อให้จากไปอย่างสงบ เป็นต้น

“ถือว่าผลตอบรับดี มีสื่อมาเป็นจำนวนมากทั้งไทยและทั่วโลก ทำให้เราคิดว่า มรณานุสติคาเฟ่คงมีที่นี่ที่เดียวในโลก ทำให้สารถูกส่งออกไป ทำให้ทุกคนนึกถึงความตายทุกขณะ และพูดเรื่องความตายได้เสมอ”

อาจารย์ใหม่ ระบุว่า น่าจะมีคนรับสารเราไปสัก 10 ล้านคน มี 10,000 คนที่นึกถึงความตาย ก็เท่ากับช่วยลดคดีได้ 10,000 คดี ลดการกินเหล้าได้ 100 คนได้ และลดสถิติอุบัติเหตุไป 100 คดี

ที่ได้ผลเกินคาดมากไปกว่านั้น เขา เล่าว่า มีพ่อแม่มาใช้มรณานุสติคาเฟ่ดึงลูกวัยรุ่นเข้ามา เพราะลูกดื้อ และชวนลูกมานอนในโลง พอปิดฝาโลงเด็กร้องไห้ เพราะเหมือนตัวเองใกล้ตาย เกิดความกลัว และคิดได้ว่า “แม่ต่างหากที่รักเค้ามากกว่าเพื่อน” นี่คืออีกความสำเร็จของคาเฟ่แห่งนี้    

182551

ขณะเดียวกันสารที่เราส่งไป ว่าความตายเป็นเรื่องที่พูดได้ ทำให้หลายคนคลายความเชื่อที่ถูกฝั่งหัวมานาน จนคิดว่าการพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องต้องห้ามในทางพระพุทธศาสนา “มรณานุสติคาเฟ่”  จึงมาช่วยให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง

“มรณานุสติคาเฟ่ เป็นเรื่องการจุดประกายมากกว่า ให้คนคุ้นว่าความตายไม่เป็นอัปมงคลและเป็นเรื่องดี แต่แน่นอนว่าไม่ใช่งานเดียว จะประสบผลสำเร็จ ต้องมีงานต่อเนื่องที่จะขยายผลให้ได้มากขึ้น ต้องวิจัยต่อไป เพื่อทำให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย  เห็นผลเร็วขึ้น และชัดขึ้น”

เขากำลังทำเรื่อง  “กตัญญู” โดยมีสมมุติฐานว่า หากคนมีความเชื่อที่ถูกต้องในเรื่องกตัญญู การพูด การคิด และทำก็น่าจะดี สังคมก็จะดีตามไปด้วย  ซึ่งต้องทำวิจัยก่อน  เพื่อศึกษาตามหลักวิชา ให้รู้ว่า  “กตัญญูคืออะไร” กตัญญูต่ออะไรบ้าง แน่นอนไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้น แต่หมายถึงธรรมชาติ ต้นไม้ ลำธาร เป็นต้น และหาเหตุที่ทำให้กตัญญู และไม่กตัญญู คืออะไร รวมถึงต้องศึกษาหลักจิตวิทยา เพื่อหากลไกที่จะทำให้คนเห็นแล้ว มองแล้ว เกิดกระตุกคิดเรื่องความกตัญญูกขึ้นมาได้

และเชื่อว่าต้อง “ปัง” อีกแน่นอน ดูจาก  “มรณานุสติคาเฟ่”  ที่มีวัยรุ่นเข้ามาไม่ได้ขาด และต่างประทับใจกับนิทรรศการมีชีวิตของที่นี่  เขาได้รับสารที่อยากส่งให้เขา  และทำให้ได้ตระหนักว่าความตายอยู่ใกล้ตัวทุกขณะ และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น

“โอม” วสุ ประภากุลธวัช กราฟฟิกดีไซเนอร์ และอินทีเรีย อายุ 28 ปี ที่มานั่งจิบเครื่องดื่มแบบชิลๆ ที่คาเฟ่ สะท้อนว่า บรรยากาศทำให้เขาตระหนักว่าชีวิตคนสั้น ไม่แน่นอน ได้คิดว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตหรือไม่ก็ไม่รู้ได้ แม้เป็นวัยรุ่นเขามองว่าก็ต้องคิดเหมือนกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะคิดถึงความตายได้ “ขึ้นอยู่กับแรงกระทบของแต่ละคนมากน้อยต่างกันตามการเลี้ยงดูและประสบการณ์ มักจะเข้มขึ้นตามวัย “

182560

ขณะที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับ โอม   “แทน”  บรรณวิชญ์ สมบุญ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 20 ปีก็ทดลองเข้าไปนอนในโลง มีเจ้าหน้าที่ร้านคอยปิดฝาโลงให้เขาอยู่ในพื้นที่แคบเท่าตัวนาน 3 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นเวลาพอเหมาะ เพราะเลยนาทีแรกไปแล้วจะทำให้คนหายจากอาการตระหนก และอยู่กับตัวเองมากขึ้น

แทน เล่าความรู้สึกว่า กลัวความตายขึ้นมาทันที และการได้อยู่ในนั้น ทำให้ได้อยู่กับตัวเองอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนในวัยที่ชีวิตผูกกับหน้าจอโทรศัพท์  และการที่คิดได้ว่าความตายมาใกล้ตัว ทำให้จะต้องทำสิ่งที่อยากทำได้สำเร็จ เขา บอกว่า สิ่งนั้นคือ การลดความอ้วนเพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น จากตอนนี้มีน้ำหนักถึง 115 กิโลกรัม

ส่วน  “ตี้หลุง”  วิสิฐศักดิ์ ผิวผ่อง อายุ 30 ปีข้าราชการหน่วยงานใหญ่ใช้มุมสงบของที่นี่ นั่งมองโลงพร้อมกับนึกถึงชีวิตของเขาที่ผ่านมา เขา  บอกว่า เลือกมานั่งสงบที่นี่  ทำให้ได้คิดหาทางออกของปัญหาต่างๆ ทำให้เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น แม้เขาจะเป็นคนหนึ่งที่เข้าวัดบ่อย แต่ตี้หลุง บอกว่า การเข้าวัดทำให้สบายใจ แต่ปัญหายังอยู่ แต่การมรณานุสติ ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้สงบ ได้ใจเย็น ได้เห็นปลายทางที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกันหมดนั่นคือ  “ความตาย”

Avatar photo