Digital Economy

ททท. ต่อยอดบิ๊กดาต้าสู่ ‘Smart Data’ หวังกระจายรายได้สู่เมืองรองดีขึ้น

1af263c74eda0c6f5538125721b277 920 460 fit
ภาพจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนเริ่มได้ยินการท่องเที่ยวเมืองหลัก – เมืองรองที่ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ ททท. พยายามโปรโมตออกมามากขึ้น และเป็นโจทย์ท้าทายด้านการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมากในเรื่องของการกระจายรายได้

โดยเมืองรองนั้น ปัจจุบันมี 55 จังหวัด ส่วนเหตุที่ได้ชื่อว่าเมืองรองนั้น เกณฑ์ในการแบ่งมาจาก “จำนวน” ผู้ที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนเมืองแห่งนี้ ทั้งแบบพักค้างคืนและไม่พักค้างคืนที่ นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า มีไม่ถึง 4 ล้านคนต่อปี

ตัวเลขที่น้อยมากนี้ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของเมืองหลักกับเมืองรองห่างกันมากขึ้น โดย ททท. พบว่า สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่ไหลเข้าเมืองหลักทั้ง 22 จังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ นั้นคิดเป็น 90% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่เมืองรองได้รับส่วนแบ่งไปเพียง 10% เท่านั้น

หรือในด้านจำนวน ททท.พบว่า มีผู้ไปเยี่ยมเยือนเมืองหลักมากถึง 70% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และมีเพียง 30% เท่านั้นที่ไปเมืองรอง ด้วยเหตุนี้ ในด้านผู้อยู่อาศัยในจังหวัดหลักก็เริ่มไม่สบายใจไม่สบายกายที่เมืองต้องรองรับนักท่องเที่ยวเยอะเกินไป และบางจังหวัดเจอปัญหาจราจรติดขัดในฤดูท่องเที่ยว หรือเกิดปัญหาด้านขยะที่ทางเมืองจัดการไม่ไหว บ้างก็ทำให้ข้าวของแพงขึ้นจนชาวบ้านลำบาก

แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ที่มาของข้อมูลข้างต้นนั้นมาจากบิ๊กดาต้าที่ทาง ททท.พัฒนาขึ้นร่วมกับพาร์ทเนอร์จากหลายภาคส่วน โดย ททท. ได้ต่อยอดให้กลายเป็น “Smart Data” หรือข้อมูลอัจฉริยะที่ช่วยให้ทาง ททท. วางแผนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้อย่างเจาะลึก และฉับไวมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ กว่าที่ ททท. จะได้ข้อมูลเหล่านี้มา อาจต้องลงพื้นที่ไปทำแบบสอบถามจากนักท่องเที่ยวโดยตรง ทำให้ข้อมูลอาจไม่สามารถตอบโจทย์การวางแผนรับมือแบบเรียลไทม์ หรือคาดการณ์ความต้องการของนักท่องเที่ยวล่วงหน้าได้

การมาถึงของสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชันต่าง ๆ ตลอดจนสังคมไร้เงินสด จึงกลายเป็นตัวช่วยชั้นดีที่ทำให้ ททท. สามารถเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า รวมถึงนำไปใช้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จากภาคส่วนต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยทาง ททท. เรียกโครงการนี้ว่า “Tourism Smart Data Management” เริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีพาร์ทเนอร์ด้านกลยุทธ์แล้วหลายรายไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค เอ็กซ์พีเดีย อาลีบาบา การท่าอากาศยาน กองการตรวจคนเข้าเมือง ส่วนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล พันทิป ทาง ททท. เผยว่ามีแผนที่จะเจรจาในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน และในวันที่ 15 พฤศจิกายน ทาง ททท. ก็มีแผนจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการด้วย

Infographic 001

บิ๊กดาต้าสู่สมาร์ทดาต้า มีแล้วรู้อะไร

นายศิริปกรณ์เผยว่า สมาร์ทดาต้าที่ ททท. มีนั้น เป็นการเก็บข้อมูลเชิงลึกซึ่งทำให้ทราบได้ว่า นักท่องเที่ยวคนนั้นมาจากประเทศอะไร มาพักกี่วัน มากับใคร พักที่ไหน อาหารเครื่องดื่ม บันเทิง กิจกรรมใดบ้างที่สนใจ หรือกระทั่งไปท่องเที่ยวที่ใดมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมจริง ที่ไม่ใช่มาจากแบบสอบถาม

“เราดูจากการกระจายตัวของโทรศัพท์มือถือว่ากระจายไปที่ไหนบ้าง เช่น ในช่วงที่ผานมา จะเห็นการกระจุกตัวที่เชียงใหม่ น่าน เชียงคาน มากเป็นพิเศษ เหล่านี้ทำให้เราเตรียมการรับมือปัญหาขยะ รวมถึงสามารถสร้างแคมเปญเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเหล่านี้ให้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้”

นอกจากนั้น ททท.ยังมีเครื่องมือ Social Listening ที่ช่วยวิเคราะห์ได้ว่า เสียงของผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อเทศกาลต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางใดด้วย จะได้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที

พร้อมกันนี้ ทาง ททท.เองยังได้จัดทำแอพ Thailand Tourism Map พร้อมข้อมูลท่องเที่ยว 55 เมืองรอง ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทาง รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยว ได้ตามความต้องการง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง

นายศิริปกรณ์ชี้ว่า SMART DATA คือเครื่องมือการตลาดที่จะมาสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดการกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวหลัก เพิ่มรายได้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ได้เห็นถึงข้อมูลแนวโน้มต่าง ๆทางด้านท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการเตรียมความพร้อม และพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมดุลได้มากขึ้นนั่นเอง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight