COVID-19

1 ก.พ.ไปโรงเรียน! ศธ.ไฟเขียวเปิดเรียนทั่วประเทศ ยกเว้น ‘สมุทรสาคร’ เรียนออนไลน์ต่อ

กระทรวงศึกษาธิการ ไฟเขียว 1 กุมภาพันธ์ โรงเรียนเปิดได้ทั่วประเทศ ยกเว้น “สมุทรสาคร” ต้องเรียนออนไลน์ต่อ ส่วน 4 จังหวัดควบคุมสูงสุด ให้สลับวันไปเรียน 

วันนี้ (27 ก.พ.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากที่ ศธ. ประกาศปิดเรียนใน 28 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4-31 มกราคม 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-1-) หรือ ศบค. ชุดเล็ก อนุมัติให้โรงเรียนใน 28 จังหวัด เปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ยกเว้น จังหวัดสมุทรสาคร ที่ยังไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ยังต้องให้เรียนออนไลน์ หรือเรียนรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นให้ใบงาน และให้แบบฝึกหัด เป็นต้น

โรงเรียนเรียนออนไลน์ ๒๑๐๑๒๗

ส่วนโรงเรียนจังหวัดพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และนนทบุรี สามารถเปิดการเรีนนการสอนได้ แต่การเรียนการสอน จะต้องจำกัดจำนวนนักเรียน โดยให้ 1 ห้องเรียน มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน

หากโรงเรียนไหนทำไม่ได้ ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน เช่น เรียนสลับเวลา หรือสลับวันมาเรียน หรือสลับสัปดาห์เรียน เป็นต้น โดยใน 4 จังหวัดดังกล่าว จะใช้เวลา 15 วัน สำหรับการเรียนการสอนรูปแบบนี้ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง หากสถานการณ์ดีขึ้น จะให้กลับไปเรียนตามปกติเหมือนจังหวัดอื่น ๆ

“ส่วนนักเรียนที่พักอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และต้องเดินทางเข้ามาเรียนในกรุงเทพมหานคร ยังให้มาเรียนไม่ได้ เพราะมาจากพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งโรงเรียนจะทราบดีว่า ต้องจัดการเรียนรูปแบบไหนให้กับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว  และหากโรงเรียนเปิดสอนตามปกติแล้ว แต่ผู้ปกครองบางส่วน อาจยังไม่สะดวกใจให้ลูกมาเรียน ที่โรงเรียน เนื่องจากกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ โรงเรียนก็ต้องบริหารจัดการให้ตามความเหมาะสม”  นายณัฏฐพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม การอนุมัติทั้งหมดนี้ ต้องเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ และรอประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์นี้ (29 ม.ค.) อีกครั้ง แต่เหตุผลที่ทาง ศธ.ต้องประกาศในวันนี้ เพราะโรงเรียนจะได้มีเวลาเตรียมความพร้อม เปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และหากมีเหตุการณ์ที่ต้องติดตาม หรือมีประกาศที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องยึดประกาศจาก ศบค.ชุดใหญ่

การประกาศเปิดเรียนดังกล่าว จะทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถคำนวณได้ว่า จำนวนวันที่หายไปโดยไม่ได้ให้บริการเรื่องต่าง ๆ แก่นักเรียน จะสามารถจัดเป็นส่วนลดภาระของผู้ปกครองได้อย่างไร จำนวนเท่าไหร่ เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่ารถรับส่งนักเรียน หรือค่าทัศนศึกษา เป็นต้น แต่ละโรงเรียน จะต้องอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะรวบรวมข้อมูลมารายงาน ศธ.ต่อไป

“ส่วนของรัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกับผู้ปกครองในช่วงนี้ โดยเฉพาะค่าอินเทอร์เน็ตที่จะใช้เรียนออนไลน์ ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็กำลังพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ต ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนอยู่”

ทางด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตนได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สั่งการให้โรงเรียนหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครอง พิจารณาคืนเงินให้กับผู้ปกครอง ในรายการที่ได้เรียกเก็บแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การทัศนศึกษา ถ้าไม่ได้จัดก็ต้องคืนเงินให้ผู้ปกครอง

แต่บางรายการ เช่น การจ้างครูสอนภาษาต่างประเทศ ก็คืนไม่ได้ เพราะครูก็ยังทำหน้าที่สอน อย่างไรก็ตาม การจะคืนเงินให้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียนพราะจะมียอดที่ไม่เท่ากัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo