The Bangkok Insight

วงเสวนารุมทึ้ง ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ จี้ ‘ทอท.’ ปรับปรุง!!

วงเสวนารุมทึ้ง “สนามบินสุวรรณภูมิ” จี้ “ทอท.” เร่งปรับปรุงตัว ไม่งั้นคุณภาพบริการจะย่ำอยู่กับที่

S 69312539

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.) ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “สุวรรณภูมิ สนามบิน 1 ใน 3 ของโลก … ฝันหรือเป็นไปได้จริง?” โดยมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2561 สกายแท็กซ์จัดให้สุวรรณภูมิเป็นสนามบินอันดับ 36 ของโลก ซึ่งหากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังใช้วิธีบริหารแบบเดิมๆ ไม่ลงรายละเอียด ก็ไม่มีทางขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของโลกได้ โดยอยากให้ปรับความคิดใหม่ เพราะประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี หากมีการพัฒนาที่ถูกทาง เอาใจใส่ผู้โดยสาร มั่นใจว่าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

สำหรับสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับ 1 ของโลก ก็เพราะไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแค่สนามบิน แต่มีการจัดบริการต่างๆ เสริมเข้าไป เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้โดยสาร เช่น โรงภาพยนตร์, สระว่ายน้ำ ห้องเล่นเกมส์ และสวนดอกไม้ เป็นต้น

S 69312541

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ทอท. มีรายได้ดีและแจกโบนัสให้พนักงานถึง 7.5 เดือน แต่รายได้ดังกล่าวกลับไม่สอดคล้องกับความพอใจของผู้ใช้บริการสนามบิน โดยผู้โดยสารให้คะแนนความพอใจสนามบินสุวรรณภูมิแค่ 3 ดาว

หน่วยงานที่กำกับดูแลสนามบิน ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รวมทั้งกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทอท. จึงควรลงมากำกับดูแลอย่างจริงจัง ระบบโบนัสควรเชื่อมโยงกับคุณภาพการบริการ โดยควรประเมินความพึงพอใจของสายการบิน และผู้โดยสารด้วย ถ้ายังคงปล่อยปละละเลยเช่นนี้ สุดท้ายการเป็นสนามบิน 1 ใน 3 ของโลกก็เป็นแค่ความฝัน

S 69312543

นายต่อตระกูล ยมนาค ผู้แทนโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ตามแผนพัฒนาของ ทอท. ไม่มีใครเห็นประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเงินลงทุน 4.3 หมื่นล้าน อาจจะมองว่าไม่แพง แต่จะแพงมากถ้าทำโครงการแล้วให้เกิดกลียุคในสนามบิน ซึ่งที่ผ่านมา นักวิชาการ ตัวแทนวิชาชีพสถาปนิก และวิศวกร ได้วิเคราะห์กันแล้วว่าไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน และ ทอท. ก็อธิบายไม่ได้ว่า 30 ล้านคนคิดมาจากอะไร แต่โครงการนี้สร้างแล้วกลับมีพื้นที่พลาซ่าขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร

นายต่อตระกูล กล่าวต่อว่า เมื่อ 4 ปีก่อน รัฐบาลได้มอบหมายให้ตนเข้าไปดูแลรับผิดชอบดูความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ 2 โครงการใหญ่ ซึ่ง 1 ในนั้นคือโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งก็พบว่าเป็นโครงการที่ไม่ให้ความร่วมมือมากที่สุด โดย ทอท.ไม่ยอมเปิดเผยเปิดเผยข้อมูลโครงการ อ้างว่าเป็นความลับ หากเปิดเผยไปอาจจะติดคุก รวมทั้งอ้างว่าโครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งขัดกับหลักการของโครงการ CoST

พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ เลขาธิการสภาพสถาปนิก เปิดเผยว่า การประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งวงเงินจ้างออกแบบเพียง 329 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับการออกแบบอาคารอื่นๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิที่มีค่าจ้างออกแบบ เช่น อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite) ใช้วงเงินออกแบบถึง 800 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ขัดแย้งกับเป้าหมายของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ต้องการเรื่องคุณภาพ มากกว่าการประหยัดงบประมาณ

ด้านการประกวดแบบที่มีกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ ‘กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค’ ผู้ได้คะแนนอันดับ 2 จำนวน 94.5 เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งที่มีคะแนนห่างจากอันดับ 1 ถึง 3 คะแนน หรือคิดเป็น 3% นั้น ก็สามารถตีเป็นค่าความเสียหาย 1,260 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ

นายวิเชียร พงศธร รองประธาน คณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าองค์กรฯ ต้องการเปิดเวทีเพื่อระดมความเห็นต่อกรณีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการลงทุน แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เนื่องจากสนามบินเป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว โดยหลังจากนี้ องค์กรฯ จะรวบรวบข้อมูล ข้อเสนอแนะไม่วิเคราะห์หากพบว่าโครางการมีปัญหามีความเสี่ยง ก็อาจจะ พิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะไปยัง ทอท. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Avatar photo