Economics

ไฟเขียว ‘บีทีเอส’ ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองส่วนต่อขยาย

“คจร.” ไฟเขียว “บีทีเอส” ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู – เหลืองส่วนต่อขยาย วงเงิน 7 พันล้านบาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยหลังการประชุม คจร. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (17 ต.ค.) ว่า ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

รถไฟฟ้า สีเหลือง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย มีระยะทางรวม 2.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,779 ล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา จากนั้นจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

​นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช– เมืองทองธานี ของ รฟม. ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,379 ล้านบาท

รถไฟฟ้า สีชมพู

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู มีกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เป็นผู้ชนะการประมูล

โดย BSR ได้ยื่นข้อเสนอรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูส่วนต่อขยาย เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของโครงการ

Avatar photo