Lifestyle

เปิดผลสำรวจคนกรุง 77.5% มีหนี้สินชี้ ‘บ้าน-รถ’ มากที่สุด

977
ภาพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เปิดผลสำรวจคนกรุง 77.5% มีหนี้สิน ชี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ “ที่อยู่อาศัย – รถยนต์” มากที่สุด ห่วงหนี้นอกระบบยังสูงแม้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แถลงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,171 กลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 24 -28 สิงหาคม 2561 ซึ่งต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องหนี้สินครัวเรือน

ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า จากผลสำรวจ พบว่าคนกรุง 77.5% ของกลุ่มตัวอย่างมีหนี้สิน มากสุดเป็นหนี้สินที่เกี่ยวกับการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ 37.6% รองลงมา เป็นการกู้ซื้อรถยนต์ 28.2% และเป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบจำนวน 18.8% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันการซื้อบ้าน หรือที่พักอาศัยเป็นเหตุผลหรือความจำเป็นอันดับแรกที่ทำให้คนกรุงต้องเป็นหนี้

โดยในการกู้ยืมแหล่งเงินกู้อันดับหนึ่งหรือ 36.4% คือธนาคารพาณิชย์ รองลงมา 16.7% คือบริษัทไฟแนนซ์ลิสซิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับรูป แบบการเป็นหนี้ คือต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ อย่างไรก็ตาม 15.3% ยังใช้บริการของคนปล่อยกู้หรือหนี้นอกระบบอยู่เช่นเดิม

ส่วนตัวเลขหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินพบว่า 40% เป็นหนี้น้อยกว่า 100,000 บาท รองลงมา 30% เป็นหนี้ช่วง 1- 500,000 บาทและเป็นหนี้ 500,000 ถึง 1 ล้านบาทประมาณ 17% และยังพบว่ากว่า 53% เคยผิดนัดผ่อนชำระหนี้ และที่เคยถูกทวงถามหนี้ โดยลักษณะการถูกทวงถามหนี้มากสุด 33% เป็นในลักษณะของจดหมายและไปรษณีย์เปิดผนึก รองลงมาเป็นการพูดจาไม่สุภาพและคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง และประมาณ 22% ของกลุ่มตัวอย่างคือเคยถูกดำเนินคดีฟ้องศาลและยึดทรัพย์

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากตัวเลขการเป็นหนี้ของคนกรุง ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนของการไปกู้หนี้นอกระบบที่ยังคงไม่ลดลง แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น โครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง หรือสินเชื่อพิโก และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือนาโนไฟแนนซ์ แต่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 36% ต่อปีจึงไม่จูงใจให้มีการไปใช้บริการแทนการกู้ยืมนอกระบบ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ทั้งสองโครงการให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ต้องไม่เกิน 15% เช่นเดียวกับสินเชื่ออื่นๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนไปใช้บริการ

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK