Economics

คณะปฏิรูปพลังงานตบเท้าพบกกพ.เคลียร์ปมอำนาจหน้าที่

pornchai
ภาพจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หนึ่งใน 6 ด้าน 17 ประเด็นการปฏิรูปพลังงานที่กำลังขยับในขณะนี้ การปฏิรูปด้านที่ 1 ที่ทุกคนอยากเห็นการปรับปรุง ก็คือ การบริหารจัดการพลังงาน โดยเฉพาะประเด็น “ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงาน” ซึ่งในแผนปฏิรูปมุ่ง “ปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กร เพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชน และกระตุ้นการลงทุนของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ Code of Conduct หรือจัดทำกติการะหว่างหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานผู้ปฏิบัติภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนและเพิ่มความคล่องตัว

กกพ.ทำงานภายใต้นโยบายรัฐ

ในเรื่องนี้ นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้ความสำคัญกับการจัดวางบทบาทของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะองค์กรที่ต้องกำกำกับกิจการพลังงานของประเทศค่อนข้างมาก

หลังจากที่เห็นสถานการณ์สั่งยุบสั่งตั้งกกพ.ในห้วงเวลาที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ออกอาการน่าเป็นห่วง เขาระบุว่า องค์กรนี้คือองค์กรอิสระ ที่ต้องมากำกับพลังงานของทั้งประเทศ ทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ในฐานะเป็นกรรมการปฏิรูปต้องออกมาย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายกลับไปดูพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน 2550 ว่า บทบาทของ กกพ.คืออะไรกันแน่

18 อำนาจหน้าที่ของกกพ. ตามกฎหมาย ข้อที่ 1 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ทำหน้าที่กํากับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ”

เมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น นายพรชัยเลยย้ำว่า กกพ.ต้องตระหนักในบทบาทตัวเอง ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานเอง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าใจบทบาทของกกพ.ด้วย เพราะไม่ใช่หน่วยงานปฏิบัติในสังกัดกระทรวงพลังงาน ไม่เช่นนั้นคงเป็นกรมกองหนึ่งในกระทรวงไปนานแล้ว

“กกพ.ไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ทำงานภายใต้นโยบายที่กำหนดแล้วในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนโยบายจากคณะรัฐมนตรี ”

ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ-สร้างฐานข้อมูล

นอกจากภายนอกต้องเข้าใจบทบาทของเขาแล้ว กกพ.ก็ต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองด้วย ว่ามีความสำคัญอย่างไร

นายพรชัย แนะนำว่า ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขององค์กร เพราะเป็นองค์กรที่ต้องไปกำกับคนอื่น ขณะเดียวกันกิจการพลังงานของประเทศในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากจาก  Disruptive Technology

กิจการไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนไป ผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้ใช้เป็นคนเดียวกันมากขึ้น เอกชนมีบทบาทมากขึ้นตามลำดับ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าก็จะเข้ามาแน่นอน ขณะที่ก๊าซธรรมชาติก็จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามาแทนที่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ

ขณะเดียวกันก็ต้องกำกับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของเอกชนในแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ และบงกชที่กำลังมีการประมูลในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Conduct : PSC )

ดังนั้นกกพ.ต้องปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และเทคโนโลยี ต้องสรรหาคนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละสาขามาทำงานมากขึ้น เพื่อให้เป็นองค์กรทางวิชาการในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลทางพลังงานด้วยตนเอง ไม่ต้องนำข้อมูลจากหน่วยงานอื่นมาวิเคราะห์

นอกจากทำให้เกิดความน่าเชื่อถือแล้ว ยังทำให้แนวทางการกำกับดูแลมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันต้องปรับสำนักงานประจำเขตของกกพ.ที่มีรวม 13 เขตด้วย เพื่อให้ทำหน้าที่กำกับดูแลในระดับพื้นที่ และประสานเชื่อมโยงกับพลังงานจังหวัด ที่สำคัญต้องทำให้สาธารณะรับรู้บทบาทของกกพ.มากกว่านี้

“งานในระดับพื้นที่ไปกระจุกตัวอยู่ที่พลังงานจังหวัดหมด ไม่มีคนรู้จักกกพ.มากนัก ดังนั้นต้องทำให้ภาพขององค์กรชัดมากขึ้น”

ปรับที่มาของกกพ.ใหม่

นายพรชัย ยังมองถึงที่มาของกกพ.ที่กฎหมายกำหนดให้  “ต้องมาจากผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มี ความรู้ ความเข้าใจ  และมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี  ในสาขาพลังงาน คณิตศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  การเงิน การบัญชี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค หรือในสาขาอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการพลังงาน”

เขามองว่า ต้องกำหนดกรอบและเงื่อนไขที่มาของกกพ.ใหม่ โดยเห็นว่าระดับผู้ว่าการสูงสุดของหน่วยงานหรือองค์กรด้านพลังงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือซีอีโอปตท. หากจะนั่งเป็นกกพ.ทำได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 6- 7 ปีหลังจากออกตำแหน่งผู้ว่าการ จากปัจจุบันที่สามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งกกพ.ได้เลยหากได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการดำรงความเป็นกลาง

“แต่ละท่านที่มาเป็นกกพ. ก็ต้องมาจากแวดวงพลังงานทั้งสิ้น ต้องเคยเป็นผู้บริหารองค์กร ต้องเกี่ยวพันกับเอกชนด้วยกันทั้งนั้น และต่างรู้จักกัน แต่ต้องมีกรอบกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า ว่าหากจะมานั่งในกกพ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ ก็ต้องให้ขาดจากองค์กรนั้นมาระยะหนึ่ง เพื่อความโปร่งใส ไม่มีการขัดกันซึ่งผลประโยชน์  นอกจากนั้นก็อยู่ที่การวางตัวของแต่ละคนด้วยว่าจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน หากสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะพิจารณาเรื่องใด แม้แต่เรื่องร้อนๆ อย่าง การที่บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ จีพีเอสซี เข้าซื้อหุ้นของบริษัทโกลว์ พลังงาน ก็จะได้รับการยอมรับ”

เดินสายหารือกกพ.สัปดาห์หน้า

เพื่อให้กกพ.ได้รับความเชื่อถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทของกกพ. คณะกรรมการปฏิรูปฯ จะนัดหารือกับกกพ.ทั้ง 7 คนในสัปดาห์นี้ เพื่อให้มีการปรับปรุงแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับการปฏิรูปพลังงานต่อไป

Avatar photo